Breastfeeding : Best Start of Life (1)
รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์
อาจารย์พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
การประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 5-7 มิย 56
หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีสิทธิได้รับฟังข้อมูล และการให้การปรึกษาก่อนการตัดสินใจเลือกวิธีการให้อาหารแก่ทารก ควรเปิดโอกาสให้หญิงตั้งครรภ์ได้พูดถึงความวิตกกังวลหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มุมมองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของหญิงตั้งครรภ์ สามี ครอบครัว และผู้ใกล้ชิด การให้นมแม่สำคัญกับแม่อย่างไร แม่คิดว่าจะดูแลตนเองเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างไร และการสนับสนุนจากครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการให้การปรึกษา
แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิถีของธรรมชาติก็ตามแต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่ง่ายเสมอไปที่จะทำให้แม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีปัจจัยหลายประการที่มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการจัดการให้มีความลงตัวผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรม- สังคม- เศรษฐกิจ การสนับสนุนจากสามี ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นของแม่เป็นสำคัญ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จได้ไม่ใช่เพียงแต่ความพยายามที่จะให้ลูกกินนมแม่หรือรอคอยให้ใครบางคนมาช่วยเหลือภายหลังคลอดเท่านั้น แต่จะต้องมีการวางแผนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพไว้ล่วงหน้าเพื่อเพิ่มสมรรถนะและความพร้อมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ การป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจทำให้ล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เป็นต้น
ควรมีการจัดการสอนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding Class) ที่หน่วยฝากครรภ์ โดยใช้วิธีการสอนเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อความคิดและความรู้สึกของพ่อแม่ การให้ข้อมูลต่างๆ จะอยู่บนพื้นฐานของความต้องการและเป็นไปตามธรรมชาติ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับโอกาสในการตัดสินใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ด้วยตนเอง
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูก เกี่ยวข้องกับทั้งระบบประสาท และ ชีววิทยา ( Neurobiology)ของทั้งแม่และลูก ทารกแรกเกิดยังมี primitive reflex หลายอย่างที่ช่วยการเริ่มดูดนมแม่ ได้แก่ crawling reflex ,rooting reflex sucking และ swallowing reflex เป็นต้น ภายหลังเกิดทารกจะพักระยะสั้นๆในลักษณะตื่นตัวเพื่อปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่นอกครรภ์แม่ และ แสดงสัญชาตญาณของการดูดนมเพื่อเอาชีวิตรอด
ควรเริ่มให้ทารกดูดนมแม่โดยเร็วที่สุดถ้าเป็นไปได้ภายใน ½ -1 ชั่วโมงหลังคลอดจะเป็นระยะที่ทารกตื่นตัวดี ไม่ควรรีบเอาทารกไปอาบน้ำ หยอดตา หรือทำกิจกรรมที่ยังไม่จำเป็นรีบด่วน วิธีปฏิบัติคือ วางทารกให้นอนคว่ำบนหน้าอกแม่โดยหันหน้าเข้าหาหัวนมของแม่ใช้ผ้าคลุมแม่กับลูกไว้ด้วยกัน ปล่อยให้ทารกคลานเข้าหาเต้าแม่และเริ่มดูดนมด้วยตนเองเมื่อเขาพร้อม ไม่รบกวนกระบวนการช่วยตนเองของทารก ควรให้เวลาสำหรับการสัมผัสนี้อย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง
การนำทารกมาวางที่อกแม่ทำให้แม่และลูกได้สัมผัสใกล้ชิดกันแบบเนื้อแนบเนื้อเป็นผลดีการปรับตัวด้านสรีวิทยาของทารก ได้แก่ อุณหภูมิกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือดของทารก ช่วยให้กระตุ้นเกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ทารกสงบลดการร้องกวน ทารกได้ รับคลอลอสตรัม( colostrum) ภูมิคุ้มกัน IgA จะเคลือบลำไส้ของทารกป้องกันการติดเชี้อ ช่วยให้มี coordination ของการดูด การกลืน และการหายใจ นอกจากนี้ยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกตินที่ช่วยในการสร้างน้ำนม และฮอร์โมนออกซิโตซินที่ช่วยในการหลั่งน้ำนม กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวลดการตกเลือดของแม่หลังคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลาและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
การดูดนมแม่ครั้งแรกถือเป็นการเริ่มทำความคุ้นเคยกับเต้าแม่มากกว่าจะเป็นการดูดเพื่อให้ได้อาหาร และเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าเต้า ระยะแรกนี้ทารกอาจจะยังไม่ดูดนมแม่ทันทีแต่จะแสดงอาการหิว (feeding cues) จากการยกศีรษะ มองไปรอบๆ แลบลิ้น เอามือเข้าปาก ทำท่าดูด น้ำลายไหล การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อระหว่างแม่กับลูก กลิ่นตัวแม่และน้ำนมแม่จะกระตุ้นให้ ทารกคืบคลานไปบนอกแม่( breast crawl)เพื่อหาเต้านม เริ่ม จ้องที่บริเวณสีเข้มของเต้าแม่ไว้เป็นเป้าหมาย ขยับไปที่เต้าแม่ เมื่อไปถึงหัวนมจะอ้าปากกว้างงับหัวนม และดูดนมแม่ได้โดยอัตโนมัต ทารกต้องอยู่ในท่าที่สามารถจะคลานเข้าหาหัวนมแม่และอมหัวนมแม่ด้วยตนเองได้อย่างสะดวกตามธรรมชาติ (Biological positioning) การที่ทารกอยู่ในท่าที่เหมาะสมและอมหัวนมแม่ได้อย่างถูกต้องจะส่งผลต่อการดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสร้างน้ำนมได้อย่างเพียงพอ ในระยะต่อมา
สาเหตุสำคัญระยะหลังคลอดที่ทำให้การเริ่มต้นให้นมแม่ไม่สำเร็จและไม่สามารถให้นมแม่ได้ต่อเนื่องส่วนใหญ่เกิดจากการเริ่มต้นให้ทารกดูดนมช้า ไม่ได้ให้ดูดตามต้องการของทารก การบังคับให้ทารกดูดนมตามความต้องการของแม่หรือผู้ช่วยเหลือ การกำหนดเวลาและระยะเวลาให้ทารกดูดนมอย่างเคร่งครัด ผู้ทำให้แม่และลูกเกิดความเครียด หรืออาจเกิดจากการใช้ยาที่ช่วยคลอดบางอย่างมีผลทำให้ทารกซึม ดูดนมได้ไม่ดี หรือการแยกแม่และลูกจากกัน มีห้องสำหรับทารกแรกเกิด(nursery) เป็นต้น
วิธีการดูแลแม่หลังคลอดมีดังนี้
- เริ่มให้ลูกดูดนมโดยเร็ว ภายใน ½ -1 ชั่วโมงหลังคลอด ช่วงนี้รีเฟล็กซ์การดูดของทารกจะแรง และแม่อยู่ในระยะตื่นเต้นที่อยากเห็นหน้าลูก การให้ลูกดูดนมเร็ว ทารกจะได้รับ colostrum ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ ให้ภูมิคุ้มกัน และทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช่วยระบายขี้เทาและลดภาวะเหลืองของทารก มีการสร้างและหลั่งน้ำนมเกิดขึ้นเร็ว การเริ่มต้นให้ลูกดูดนมครั้งแรกจะนำสู่ความสำเร็จและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อธิบายให้แม่เข้าใจว่าในระยะ 2-3 วันแรกน้ำนมยังมีไม่มากแต่ลูกจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จาก colostrum เมื่อให้ลูกดูดบ่อยทุก 2-3ชั่วโมงน้ำนมจะค่อยๆมาเพิ่มขึ้นตามความต้องการของทารก การให้ทารกดูดนมแม่ได้มากน้ำนมก็จะมีการสร้างมากตามธรรมชาติ
- ให้แม่และลูกได้อยู่ในห้องเดียวกันตลอด 24ชั่วโมง
- ช่วยเหลือแม่ในการให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี จัดท่าแม่ให้อุ้มลูกให้นมในท่าที่สะดวกสบาย ใช้หมอนรองใต้ลำตัวทารก พยุงหลังและแขนของแม่ แนะนำวิธีการเอาหัวนมเข้าปากลูก ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกถึงลานนมนม และให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้าทีละข้างเพื่อให้ได้ทั้งน้ำนมส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีการสร้างน้ำนมได้เต็มที่ ไม่ควรกำหนดเวลาหรือระยะเวลาที่ให้ลูกดูดนมอย่างเคร่งครัด ให้ลูกได้ดูดนมตามความต้องการ ขณะดูดลูกอาจจะหยุดพักเป็นระยะ และเริ่มดูดต่อไป ไม่จำเป็นต้องเขย่าเต้านมเร่งให้ลูกดูดตลอดเวลา แต่ถ้าลูกเผลอหลับให้ใช้วิธีขยับบีบเต้านมเบาๆ หรือไล่ลมให้ เมื่ออิ่มทารกจะ ปล่อยหัวนมเอง อย่าดึงหัวนมออกทันทีขณะที่ลูกกำลังดูดนม เพราะจะทำให้หัวนมแตกได้
- ให้ทารกดูดนมได้ตามความต้องการ ซึ่งช่วงเวลาจะอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าหลับนานเกินควร อาจปลุกเล่นสักครู่ก่อนให้กินนม ไม่ควรจับบังคับให้ดูดนม เพราะจะทำให้ทารกไม่ยอมดูดและแม่จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะให้นมลูก จึงต้องดูความพร้อมของทั้งแม่และลูก
- ให้แม่สังเกตสัญญาณที่แสดงว่าทารกหิว(feeding cues) การร้องไม่ได้แสดงว่าทารกหิวเสมอไป การหาสาเหตุของการร้องและการตอบสนองอย่างถูกต้องจะทำให้แม่ไม่เครียด สํญญาณหิวอาจเกิดจากการกระตุ้นจากภายในร่างกายทารก (Internal feeding cues)ที่มีน้ำตาลในเลือดลดต่ำ มีserum osmolality เพิ่มขึ้น หรือเกิดจากภายนอก (External feeding cues) จากการที่แม่อุ้ม กลิ่น และสัมผัสจากแม่ ขณะที่ให้ลูกกินนมควรให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันอย่างสงบ ให้ลูกเป็น “ผู้นำ”ในการดูดนมแม่ (Baby-led breastfeeding) ให้ลูกมีมีอิสระที่จะเคลื่อนไหวและดูดนมได้ตามต้องการ และแม่คอยตอบสนองตามสัญชาติญาณ
- ประเมินสภาพทั่วไปของแม่และลูก ท่าของแม่ในการให้นม ท่าของลูก วิธีการอมหัวนมและการดูดนมของทารก ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของหัวนมและเต้านม อาการผิดปกติที่อาจพบอื่นๆ พฤติกรรมของแม่ในการให้นมและของลูกทั้งก่อน-ขณะ-หลังให้นมแม่ ในระยะ 48 ชั่วโมงแรก และสร้างความมั่นใจให้แม่ ว่าเต้านมใหญ่หรือเล็กก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การช่วยเหลือแม่ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจังบนพื้นฐานความรู้และทักษะที่ถูกต้องของบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของแม่ในเบื้องต้น
- การสอนแม่ควรใช้วิธีการอธิบาย และสาธิตให้แม่ดู ให้แม่ทดลองปฏิบัติตามไปตามลำดับขั้น (Hand-Off Technique-HOT) จะเสริมสร้างความมั่นใจและสมรรถนะของแม่ได้ดีกว่าการจับมือให้แม่ทำ หรือทำให้แม่เพียงอย่างเดียว ผู้สอนควรเป็นผู้ที่มีความรู้จริง และมีทักษะในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือแม่ การใช้คำพูดและการปฏิบัติกับแม่ช่วงหลังคลอดต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะช่วงนี้ สมองซีกขวาจะทำงานเด่นขึ้นมาด้วยอิทธิพลของฮอร์โมน oxytocin ทำให้แม่มีอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหว การทำงานของสมองซีกซ้ายที่เกี่ยวกับความถูกต้อง เป็นขั้นตอน อธิบายได้เป็นเหตุเป็นผลจะลดลง ใช้อารมณ์และความรู้สึกมากขึ้น จึงทำให้แม่บางคนมีความรู้สึกไม่มั่นคง (insecure) ควรช่วยเหลือให้แม่มีความผ่อนคลายสบายๆ ไม่มุ่งมั่นตั้งใจจนมากเกินไป จะทำให้ประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ได้ง่ายดายขึ้น
- ไม่ให้ทารกดูดนมขวด หัวนมปลอม และไม่ให้อาหารอื่นและน้ำ นอกจากจะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- ดูแลให้แม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดเพราะจะมีผลต่อการหลั่งน้ำนม การนวดผ่อนคลาย และนวดเต้านมอย่างถูกวิธีจะช่วยทำให้การไหลเวียนโลหิตดี มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้นไหลออกดี ลดปัญหาเต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบได้
- ดูแลให้แม่ได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อให้ร่างกายของแม่ได้รับพลังงาน โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อย่างเพียงพอ ในระยะตั้งครรภ์ที่แม่มีสุขภาพดีจะมีไขมันเพิ่มและสะสมอยู่ในร่างกายและสามารถนำไขมันส่วนนี้มาใช้เป็นแหล่งพลังงานส่วนหนึ่งในน้ำนมได้ และมีส่วนช่วยให้น้ำหนักตัวแม่ลดลงได้เร็วภายหลังคลอด ร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่ช่วยให้นมแม่มีสารอาหารหลายชนิดในปริมาณที่เพียงพอ โดยไม่ขึ้นกับสารอาหารที่แม่กิน เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และสังกะสี เป็นต้น แต่ถ้าแม่รับประทานอาหารไม่เพียงพออาจทำให้น้ำนมแม่ขาดสารอาหารบางชนิดได้โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายน้ำ เช่น วิตามินบี 1และ12 สำหรับทารกที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้แม่ต้องระวังอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่นนมวัว ถั่วลิสง เป็นต้น แม่ที่ให้นมลูกมีความต้องการแคลเซียมไม่ต่างจากระยะตั้งครรภ์เพราะร่างกายมีกลไกช่วย ได้แก่ มีการหมุนเวียนของแคลเซี่ยมเข้าและออกจากกระดูกเพิ่มขึ้น การสูญเสียในปัสสาวะลดลง แม่อาจมีมวลกระดูกลดลงบ้างชั่วคราวในระยะ 3-6เดือนหลังคลอดและจะเพิ่มภายหลังจนปกติ อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งกระดูก ผักใบเขียว เป็นต้น
- ก่อนจำหน่ายแม่และทารกออกจากโรงพยาบาลจะต้องวางแผนการจำหน่าย และดูแลแม่ให้นมลูกได้อย่างมั่นใจ ฝึกหัดการนวดเต้านม การบีบน้ำนม การป้อนน้ำนมด้วยถ้วย และให้คำแนะนำแก่สามีและญาติที่ใกล้ชิดให้มีความรู้และให้ช่วยเหลือแม่ได้อย่างถูกต้อง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งให้การปรึกษาหรือให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งการส่งต่อเพื่อให้แม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเมื่อกลับไปอยู่บ้านโดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดซึ่งเป็นระยะวิกฤตของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ที่มา: http://on.fb.me/1I11hez