- องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ "ให้นมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding)" ในระยะเวลา 6 เดือน (180 วัน) หลังคลอดลูก เมื่ออายุลูกครบ 6 เดือน ให้เริ่มอาหารเสริม (Solid food) เช่น ผักและผลไม้บด เพื่อเสริมการให้นมแม่จนกระทั่งลูกอายุครบ 2 ปีหรือนานกว่านั้น นอกจากนี้
- การให้นมลูกควรเริ่มต้นตั้งแต่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
- การให้นมลูก ควรเป็นไปตามที่ลูกกำหนด (on demand) ให้บ่อยตามที่ลูกต้องการ ทั้งกลางวันและกลางคืน
- หลีกเลี่ยงการให้ขวดนมและจุกหลอก
-
- ประโยชน์ของนมแม่...ต่อทารก
- น้ำนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก โดยให้สารอาหารที่ทารกต้องการใช้ในการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง ปลอดภัย
- มีแอนตี้บอดี้ที่ช่วยปกป้องการติดเชื้อโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เช่น ท้องเสีย ปอดอักเสบ (ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสองอันดับแรกของทารก)
- น้ำนมแม่มีพร้อมใช้ได้เสมอ ไม่แพง ซึ่งจะทำให้ทารกยิ่งได้อาหารที่เหมาะสมยาวนานขึ้น (เพราะไม่แพง ไม่ต้องหาซื้อ)
- ประโยชน์ของการให้นมแม่...ต่อแม่
- การให้นมลูกจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ในคุณแม่หลังคลอดที่ให้นมไปจนถึงประมาณ 6 เดือน แต่ไม่ 100% (ป้องกันได้ประมาณ 98% ดังนั้น ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้)
- การให้นมลูกจะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ของมารดา และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- การให้นมลูกจะช่วยให้คุณแม่น้ำหนักลดลงได้เร็วกว่า ลดโอกาสเป็นโรคอ้วนในภายหลัง
- ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- ประโยชน์ระยะยาวของการให้นมแม่...ต่อลูกเมื่อโตขึ้น
- วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ได้รับนมแม่จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับนมแม่
- รวมทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย
- มักจะทำการทดสอบศักยภาพของสติปัญญาได้คะแนนสูงกว่า
- ทำไมจึงไม่สนับสนุนนมผง
- เพราะไม่มีแอนตี้บอดี้อย่างในนมแม่
- เพราะไม่สามารถแสดงประโยชน์ที่เห็นได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับการให้นมแม่ ทั้งต่อแม่และลูก
- หากไม่ระมัดระวังความสะอาดให้ดีเวลาชงนมผง และใช้แหล่งน้ำที่ไม่สะอาด จะทำให้มีแบคทีเรียปนเปื้อนได้
- หากผู้ผลิตไม่ระมัดระวัง เกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต จะทำให้มีแบคทีเรียปนเปื้อนมาในกระป๋องได้
- หากผสมน้ำมากเกินไป (เพื่อประหยัดนมผง) จะทำให้เด็กขาดสารอาหารได้
- หากใช้นมผงและเกิดปัญหาไม่สามารถหานมผงมาใช้ต่อได้ การจะกลับมาให้นมแม่มักเป็นไปได้ยากเพราะขาดการกระตุ้นต่อเนื่องจากการดูดโดยทารก

- โรค HIV และการให้นมแม่
- แม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถส่งผ่านเชื้อโรคเข้าสู่ลูกได้ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ตอนคลอดและระยะให้นมบุตร แต่หากคุณแม่ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรค หรือลูกได้รับยาต้านไวรัส ป้องกัน จะทำให้ความเสี่ยงของการส่งผ่านเชื้อน้อยลงมาก
- แม่ที่ให้นมลูกร่วมกับรับยาต้านไวรัส จะช่วยให้ลูกมีโอกาสรอดชีวิตโดยที่ไม่ติดเชื้อ HIV ด้วย
- WHO แนะนำว่าหากคุณแม่ติดเชื้อ HIV จะให้นมลูก ควรจะได้รับยาต้านไวรัสและปฏิบัติตามแนวทางที่ WHO แนะนำ
- การควบคุมการใช้นมทดแทนนมแม่ตั้งแต่ปี 1981 (พ.ศ.2524) มีเกณฑ์ควบคุมการตลาดของนมทดแทนนมแม่ที่ออกโดยองค์การนานาชาติ ดังนี้
- ป้ายฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ต้องระบุประโยชน์ของการให้นมแม่ และความเสี่ยงต่อสุขภาพเมื่อให้นมทดแทน
- ไม่มีการโฆษณาสนับสนุนการใช้นมทดแทน
- ไม่มีการให้ตัวอย่างนมทดแทนแก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัว
- ไม่มีการแจกจ่ายนมทดแทนหรือให้เงินสนับสนุนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล
- การสนับสนุนการให้นมแม่ต่อแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรถือเป็นขั้นตอนสำคัญ
- การให้นมลูกเป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ แต่คุณแม่ส่วนมากไม่ทราบ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเวลานำลูกเข้าเต้าทำให้ขั้นตอนต่อไปมักไม่ค่อยสำเร็จ
- ปัญหาที่คุณแม่ประสบมากที่สุด คือ อาการหัวนมแตก เจ็บ และความกังวลว่านมจะไม่พอ
- การเริ่มต้นที่โรงพยาบาลแรกคลอดนั้นสำคัญมาก หลายกระบวนการที่โรงพยาบาลทำกันเป็นกิจวัตรล้วนเป็นอุปสรรคต่อการให้นมแม่สำเร็จ ได้แก่ การแยกแม่และลูกจากกัน การมีห้องเนิร์สเซอรี่หลังคลอดเพื่อดูแลทารก การเสริมนมผง
- หากสถานพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ ทำการอบรมให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีความสามารถในการให้ความรู้และสนับสนุนการให้นมอย่างถูกต้อง จะทำให้อัตราการให้นมแม่สำเร็จสูงขึ้นได้
- WHO-UNICEF Baby-friendly Hospital เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในกว่า 152 ประเทศทั่วโลกได้ปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลเพื่อดูแลแม่และเด็กแรกเกิดได้เหมาะสม

- การให้นมลูกเมื่อกลับไปทำงาน
- แม่ๆ หลายคนต้องเลิกให้นมลูกเมื่อกลับไปทำงานเพราะไม่มีเวลาพอ ไม่มีสถานที่จะให้นม หรือปั๊มและเก็บนม แม่ที่ให้นมลูกต้องการสถานที่ที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว ในบริเวณที่ทำงานเพื่อที่จะปั๊มนมและให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่อง
- การทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการทั้งหลายจัดการสถานประกอบการให้มีที่ปั๊มนม เก็บนม ให้เวลาปั๊มนมหรือให้นมลูก ให้เงินเดือนระหว่างลาเลี้ยงดูบุตร ให้ทำงานพาร์ทไทม์ มีห้องดูแลเด็กในบริเวณที่ทำงาน จะช่วยทำให้แม่สามารถให้นมลูกได้นานขึ้น ส่งผลถึงสุขภาพอันดีของทั้งแม่และเด็กด้วย

- เมื่อลูกอายุครบ 6 เดือน จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้ทันกับอัตราการเจริญเติบโตที่กำลังเพิ่มขึ้น จึงต้องเริ่มให้อาหารเสริมควบคู่ไปกับการให้นมลูก
- แม่สามารถเตรียมอาหารพิเศษที่แตกต่างจากที่ครอบครัวรับประทานเพื่อให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน หรือจะให้ทานอาหารร่วมกันกับของครอบครัวก็ได้ แต่ต้องบดละเอียด และปรับความหยาบของอาหารให้มากขึ้นตามวัย
- การเตรียมอาหารเอง ทำให้รู้แหล่งที่มาของส่วนผสม ลดการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ
- ไม่ควรลดการให้นมลูกลงแม้จะเพิ่มอาหารเสริมแล้ว
- ให้ลูกรับประทานอาหารจากช้อน หรือถ้วย ไม่ใช่จากขวดนม
- อาหารต้องสะอาด ปลอดภัย มาจากแหล่งใกล้เคียง (หมายถึงรับประทานอาหารที่ผลิตในชุมชน ไม่ใช่อาหารค้างคืน หรือที่ต้องมีการขนส่งมาจากที่อื่น อันอาจมีการใส่สารกันบูดเพื่อรักษาอาหาร เป็นต้น)
- เด็กในวัยเริ่มต้นหัดทานอาหารจะใช้เวลาค่อนข้างมาก ให้จัดสรรเวลาในการป้อนอาหารแต่ละวันให้เพียงพอ
แปลโดย #แอดมินพี่เตย พฤษภาคม 2559
ที่มา http://www.who.int/features/factfiles/breastfeeding/en/