
ทำอย่างไรจึงมีนมแม่เพียงพอโดยไม่ต้องให้นมผสม เคล็ดลับข้อแรก คือ ต้องใจแข็งค่ะ คุณแม่ต้องทำใจเสมือนเป็นคุณแม่สมัยก่อน 100 ปี ยุคที่ยังไม่มีนมผสม แม่แทบทุกคนให้นมลูกของตัวเองได้สำเร็จ ทั้งที่แม่ในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบันต่างก็เริ่มมีน้ำนมออกในวันที่ 3-4 วันหลังคลอด
ในสมัยก่อนตอนที่ลูกดูดนมแม่แล้วพบว่านมยังมีน้อย ลูกก็ร้องไห้โวยวายเหมือนกัน แม่ไม่มีทางออกอื่น ก็ได้แต่ปลอบใจลูกว่า ดูดไปเถอะลูก เดี๋ยวนมก็มา แถมคุณย่าคุณยายก็ช่วยกันปลอบ แต่เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่เรามีคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะนมผสมมีการตลาดที่เข้มแข็งมาก และขาดการควบคุมอย่างจริงจังในเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ สามารถทำให้คุณแม่จำนวนมากเชื่อว่านมผสมดีกว่านมแม่ มีสารอาหารมากกว่าในนมแม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เมื่อลูกร้องไห้ขณะดูดนมแม่ที่ยังมาน้อย ทุกคนก็ยินยอมพร้อมใจกันชงนมผสมมาเสริมให้ลูกดูดเนื่องจากสงสารลูก เมื่อลูกรู้จักวิธีดูดนมจากขวดแล้วย่อมติดใจในความรวดเร็วทันใจไหลง่ายของนมจากขวด ทำให้ปฏิเสธนมแม่ในเวลาต่อมา หรือบางคนยังยอมดูดนมแม่ แต่เพราะยังอิ่มนมผสมจึงไม่รู้สึกหิว เมื่อมาเข้าเต้าก็ดูดได้ไม่เต็มที่พอที่จะกระตุ้นการสร้างน้ำนม
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เริ่มต้นให้นมแม่ควบคู่กับนมผสม โอกาสที่นมแม่จะเพียงพอย่อมมีไม่มาก โดยธรรมชาติเด็กแรกเกิดปกติครบกำหนดอยู่ได้โดยไม่ต้องทานอะไรเลยแม้แต่น้ำประมาณ 4-5 วัน โดยมีการลดลงของน้ำหนักแรกเกิดได้ถึง 10 เปอร์เซนต์ เนื่องจากธรรมชาติเตรียมความพร้อมให้ทารกมีไขมันสะสมมาใช้เป็นพลังงานในช่วงเวลาที่น้ำนมแม่ยังมาไม่เต็มที่อยู่แล้ว ไม่มีอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของทารก บางคนกลัวว่าหากปล่อยให้ร้องมากเพราะหิว เดี๋ยวลูกจะกลายเป็นคนอารมณ์ร้าย กลัวลูกเสียสุขภาพจิต ซึ่งไม่จริงเลย ความจริงคือ หากให้นมแม่ได้สำเร็จ ลูกจะเติบโตเป็นเด็กที่อารมณ์ดี อีคิวดี
เคล็ดลับข้อสอง คือ ให้เริ่มดูดให้เร็วที่สุดหลังคลอด ถึงแม้ยังเจ็บแผลหรือคลื่นไส้อาเจียนจากยาบล๊อกหลัง ก็เอามาดูดเถอะค่ะ คุณพยาบาลจะคอยเสริฟให้ถึงเต้าในท่านอนดูด แม่เหนื่อยเพลียก็หลับไปได้เลย ให้ลูกดูดบ่อยๆทุก 2 ชม.ในตอนกลางวัน 3 ชม.ในตอนกลางคืน หากลูกหลับมากอย่าดีใจว่า เออดี เลี้ยงง่ายดี คุณแม่ต้องปลุกค่ะ เพราะตอนนี้ลูกยังไม่ค่อยรู้สึกหิว เนื่องจากยังมีพลังงานสำรองอยู่ได้อีกหลายวัน แต่ถ้าพลังงานสำรองหมดแล้ว แต่น้ำนมแม่ยังไม่มาเพราะไม่ได้ถูกกระตุ้นมาก่อน ลูกร้องหนักๆแม่ก็ใจอ่อนต้องไปใช้นมผสมในที่สุด ส่วนลูกบางคนอาจร้องขอดูดตลอดเวลาหรือขอหลับคาเต้า ข้อดีคือกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วเพราะได้ดูดบ่อยๆ แต่แม่จะเหนื่อยมากๆ ดังนั้นแม่ต้องหาโอกาสงีบบ้าง หลับนกบ้าง เก็บสะสมชั่วโมงการนอนเท่าที่โอกาสจะอำนวย ผลักดันภาระเรื่องอื่นๆให้ทีมงานทำ (คุณพ่อ คุณย่า-ยาย พี่เลี้ยง) หน้าที่ของแม่คือให้นมลูกเป็นงานหลัก เรื่องอื่นเป็นงานรอง บางคนเข้าใจผิดว่าลูกฉันได้นมไม่พอแน่เลย ลูกจึงไม่ยอมหลับยอมนอน จึงให้นมเสริมแก่ลูกอีกเพื่อให้หลับได้นานๆ
วิธีจะดูว่านมแม่พอหรือไม่ ดูจากจำนวนอุจจาระตั้งแต่ 2 ครั้ง หรือปัสสาวะ 6 ครั้งใน 24 ชม.(ห้ามให้ลูกดูดน้ำ เพราะจะประเมินเรื่องปริมาณนมแม่ไม่ได้ และความจริงคือ ดูดนมแม่อย่างเดียว ไม่ต้องดูดน้ำเลยดีที่สุด เพราะนมแม่มีน้ำมากอยู่แล้วและมีสารยับยั้งเชื้อราในปากด้วย จึงไม่ต้องล้างปากด้วยน้ำ) หากประเมินแล้วพบว่าลูกน่าจะได้นมพอ แต่ไม่ยอมหลับยอมนอน ให้ทีมงานช่วยๆกันอุ้ม (ไม่ต้องกลัวลูกติดมือ เพราะเด็กที่ได้รับการอุ้มหรือกอดบ่อยๆในช่วง 1 ปีแรก จะเป็นเด็กที่มีความสุขค่ะ) หรือใช้เปลไกวเพื่อเบาแรงได้ค่ะ (ภูมิปัญญาสมัยโบราณ เวิร์คจริงๆค่ะ) จะได้ไม่ต้องใช้นมผสมเพื่อทำให้ลูกหลับ
เคล็ดลับข้อสุดท้าย คือ ดื่มน้ำเยอะๆ วันละ 3 ลิตร ทานอาหาร 5 หมู่ ยึดหลักว่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแม่ ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพลูกเช่นกัน อะไรที่ไม่มีประโยชน์ก็อย่าทานมาก เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ของหมักดอง ขนมหวาน เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องดื่มนมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด เพราะนมวัวอาจรั่วออกทางนมแม่ แล้วกระตุ้นให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในกรณีที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องฝืนใจทานอาหารประเภทเรียกน้ำนม ถ้าหากไม่ชอบทาน จะได้ไม่เครียดมากเกินไปกับการฝืนใจ เดี๋ยวจะให้นมไม่ได้นาน แต่ถ้าชอบทานก็ทานได้เลยค่ะ
คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
ที่มา: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=664527016906782&set=a.591395760886575.156913.591075960918555&type=1 |
กลเม็ดเคล็ดลับ