ไม่จริงแน่นอน เด็กนมแม่ที่หย่านมแม่เอง ส่วนใหญ่จะเลิกกินนมแม่ไปเอง ที่อายุประมาณ 2-4 ขวบ มักเป็นเด็กที่พึ่งพาตัวเองได้ดี และที่สำคัญคือ เป็นการพึ่งพาตัวเองชนิดที่เรียกว่า เป็นเด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์สูง เพราะอะไร? เพราะว่าลูกได้รับความอบอุ่น การรับรู้ถึงความปลอดภัยในอ้อมอกจากแม่ และ การตอบสนองจากแม่มาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม จนกระทั่งลูกมีความพร้อมแล้ว จึงตัดสินใจหยุดด้วยตัวเอง และหากลูกเลิกด้วยตัวเองได้สำเร็จ เขาจะรู้สึกได้ถึงการประสบความสำเร็จในบางสิ่งบางอย่างที่เขาควบคุมได้ ลูกเกิดการเรียนรู้ว่าเขาต้องก้าวต่อไป ทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่ทำได้

พ่อแม่บางคนผลักลูกออกไปจากสิ่งต่างๆที่พ่อแม่ทำให้ก่อนเวลาอันควร โดยเข้าใจว่านั่นเป็นการฝึกให้ลูกเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ เช่น การฝึกให้นอนเองเร็วเกินไป การหย่านมแม่เร็วเกินไป การฝึกให้ลูกอยู่คนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วยเร็วเกินไป ทำไมต้องรีบกันขนาดนั้นด้วย จำเป็นด้วยหรือที่ลูกต้องหัดออกไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองเมื่ออายุ 14 ปี เหมือนกับวัฒนธรรมฝรั่ง การทำบางสิ่งบางอย่างเร็วเกินไป เช่น การหย่านมแม่ หรือ การที่พ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิดลูกในเวลาที่ลูกยังเล็กอยู่ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการความอบอุ่นต่อเนื่องไปจนโตเป็นวัยรุ่นได้
การกินนมแม่ในเด็กวัยเกิน 2 ขวบ ได้ประโยชน์ทั้งสารอาหาร ภูมิต้านทาน และ สายใยความผูกพันระหว่างแม่ลูก ถ้าใครเคยเห็นเด็กวัยนี้กินนมแม่ จะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกพิเศษกำลังเกิดขึ้นอยู่ บางครั้งกินนมแม่อยู่ ลูกก็หัวเราะขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล นั่นแปลว่าลูกกำลังมีความสุขอยู่ที่เต้านมแม่ แม่ก็หัวเราะตามลูก เพียงเท่านี้ก็เป็นความสุขได้แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่อะไรในสายตาของคนอื่น แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความหมายต่อกันระหว่างแม่ลูกคู่นั้น
เวลาที่ลูกป่วยหรือเจ็บ จะมีวิธีอื่นวิธีไหนที่ง่ายไปกว่าการปลอบให้ลูกหยุดร้องไห้ด้วยการดูดนมแม่ อีกเล่า ป้าหมอเคยเจอเด็กนมผงป่วยที่ร้องไห้ไม่หยุด ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายามอุ้มเดินไปเดินมา ต้องใช้เวลานานกว่าจะหยุดร้องไห้ ทำเอาพ่อแม่วิตกกังวลและเครียดเป็นเวลานาน แต่ถ้าเป็นเด็กนมแม่ป่วย หลายต่อหลายครั้งที่หยุดร้องไห้ได้ด้วยการเอาเข้าเต้าดูดนมอย่างเงียบๆ แม่ทำให้ลูกสงบด้วยการดูดนม และ ลูกก็ทำให้แม่สงบได้ด้วยการดูดนมเช่นกัน เพราะเมื่อแม่เห็นลูกดูดนมได้ ก็คลายความวิตกกังวลไปได้อย่างมาก
แน่นอนว่า การให้นมแม่บางกรณีก็อาจเป็นการทำให้เด็กบางคนมีปัญหาติดแม่มากเกินไป แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะกินนมแม่ แต่เป็นที่การเลี้ยงดูที่เรียกว่า เลี้ยงแบบปกป้อง หรือ ตามใจมากเกินไป จนทำให้ลูกเสียนิสัย ดังนั้นการเลี้ยงลูกจึงต้องมีระเบียบวินัยควบคู่กันไปด้วย ไม่ตามใจพร่ำเพรื่อ เช่น ลูกอายุเกิน 1 ขวบแล้ว เวลาลูกร้องไห้อยากได้อะไร หรือ ร้องไห้เอาแต่ใจอยากจะกินนมแม่ตลอดเวลา จนทำให้ไม่กินข้าว พ่อแม่ก็ต้องสอนลูกว่า ต่อไปนี้ไม่กินนมแม่พร่ำเพรื่อแล้ว ต้องกินเป็นเวลา ไม่เช่นนั้นลูกก็จะไม่ยอมกินข้าว ลูกร้องไห้จะกินนมแม่ให้ได้ ก็ต้องยอมให้ร้องไห้ค่ะ ให้พยายามใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจภาษาแล้ว เริ่มสอนได้เลย ต่อไปลูกก็จะเรียนรู้ว่าต้องกินนมแม่เป็นเวลา