แม่ที่มีเต้านมเล็กอาจกังวลว่าจะมีน้ำนมน้อย ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เต้านมขนาดใหญ่มีไขมันมากกว่าเต้าขนาดเล็ก แต่ไม่ได้แตกต่างกันของต่อมน้ำนม คนที่มีเต้านมใหญ่มาก ใช่ว่าจะดี เพราะอาจมีปัญหาเด็กดูดไม่ถนัด แก้ไขได้โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
การให้นมแม่นานๆ หรือ การปั๊มนมมากๆ ไม่ได้ทำให้เต้านมเสียรูปทรง หรือ เหี่ยวไปจากที่ควรจะเป็น สาเหตุของการเสียรูปทรง เป็นเพราะการไม่ใส่ยกทรง
พยุงเต้าที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้เต้านมเสียรูปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ส่วน สาเหตุของการเหี่ยว ก็เป็นไปตามวัย และ ลักษณะความยืดหยุ่นผิวหนังของแต่ละคน คนที่จะรู้สึกว่าเต้าเหี่ยว มักเป็นคนที่เคยมีเต้านมขยายชนาดมาก แล้ว หยุดให้นมแบบเฉียบพลัน ไม่ได้ลดการให้นมแบบค่อยเป็นค่อยไป เปรียบเสมือน คนที่เคยอ้วนมากๆ หากลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ผิวหนังที่เคยขยาย หดกลับไม่ได้ทันที ก็จะรู้สึกว่าเหี่ยว แต่ถ้าค่อยๆลดน้ำหนัก จะไม่เห็นความเหี่ยวของผิวหนัง เช่นกันกับเต้านมที่ค่อยๆลดการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผิวหนังก็จะค่อยๆหดตัวกลับมาดังเดิม จึงไม่เห็นความเหี่ยวหลงเหลืออยู่ ยกตัวอย่างป้าหมอ ที่ให้นมแม่ยาวนาน เมื่อลูกค่อยๆโตขึ้น ความต้องการนมแม่ค่อยๆลดลง ลูกดูดน้อยลง การผลิตน้ำนมค่อยๆลดลง เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 7 ปี เต้านมค่อยๆกลับคืนสภาพเหมือนกับตอนไม่ได้ให้นม จึงไม่เห็นว่ารูปทรงเปลี่ยนแปลงไปจากตอนไม่ได้ให้นม หรือ มีความเหี่ยวเกิดขึ้นแม้แต่น้อย
"หัวนมสั้นหรือบอด"
หัวนมเป็นเพียงตำแหน่งให้รู้ว่าตรงนี้มีน้ำนมไหลออกมา แม่ที่มีหัวนมสั้นไม่ต้องกังวลใจ เพียงแต่คอยดูแลไม่ให้ลานหัวนมแข็ง กรณีที่หัวนมบอด ควรแก้ไขตั้งแต่ก่อนคลอด โดยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจได้รับคำแนะนำให้ใส่ปทุมแก้วไว้ใต้ เสื้อชั้นใน ร่วมกับการบริหารโดยใช้นิ้วมือดึงหรือใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม เพื่อกระตุ้นให้หัวนมยื่นออกมา ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนคลอด หรือ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป และเมื่อคลอดแล้ว การให้ลูกดูดและใช้เครื่องปั๊มนม จะช่วยให้หัวนมยื่นออกมาได้ในที่สุด