กรณีตัวอย่างคุณแม่อายุ 46 ปี แรกเกิดลูกหนัก 3330 กรัม อายุ 8 วัน ได้มาพบแพทย์ด้วยเรื่อง อึน้อย ฉี่น้อย ชั่งน้ำหนักพบว่า ลดลงไป 12% (หนัก 2910) เด็กกินนมแม่อย่างเดียว 
ป้าหมอประเมินโดยการบีบเต้านม พบว่ามีน้ำนมมาแล้ว ตรวจลิ้นไม่มีพังผืดใต้ลิ้น ได้สอนท่าอุ้มวิธีการดูดที่ถูกต้อง และเน้นให้ปลุกลูกมาดูดบ่อยๆ
นัดติดตามอีก 6 วันต่อมา พบว่านน.ขึ้นเฉลี่ย 40 กรัม/วัน (หนัก 3145) อึบ่อย ฉี่บ่อย จึงแนะนำให้ทำแบบเดิมต่อไป
อีก 20 วันต่อมา ตอนเด็ก อายุ 1 ด.หนัก 3455 กรัม แต่พบว่า นน.ขึ้นเฉลี่ยเพียง 15 กรัม/วันในช่วง 20 วันสุดท้าย คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น และต้องทำการดูแลอย่างไรต่อไป
ถ้าดูภาพรวมตั้งแต่เกิดจะพบว่า นน.ขึ้นทั้งสิ้น 545 กรัมใน 26 วัน (นับตั้งแต่จุดที่นน.ลดต่ำสุดมาถึงปัจจุบัน) ก็ได้ 21 กรัม/วัน ซึ่งน่าจะเป็นที่พอใจ (ปกติควรขึ้น 20-30 กรัม/วัน โดยนับจากจุดที่ลดลงไปต่ำสุด) แต่ที่ต้องแปลกใจคือ ทำไม 6 วันแรกนน.ขึ้นถึง 40 กรัม/วัน แต่ 20 วันต่อมา ขึ้นเพียง 15 กรัม/วัน ตรงนี้เกิดอะไรขึ้น
หลังจากซักประวัติเพิ่มเติม พบว่า ลูกเริ่มมีอาเจียนบ่อยในช่วง 2 สัปดาห์หลัง ถามว่ามีอาการถ่ายผิดปกติหรือไม่ เช่น ถ่ายบ่อยมาก มีมูกเลือด ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายสีเขียว ก็ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องอาเจียนบ่อย ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า สาเหตุที่นน.ขึ้นไม่ดี น่าจะเป็นเรื่องของกรดไหลย้อน (GERD- Gastroesophageal reflux disease) ซึ่งเพิ่งแสดงอาการหลังจากอายุ 2 สัปดาห์เป็นต้นมา
หลังจากได้รับยารักษาภาวะกรดไหลย้อน อีก 2 สัปดาห์ต่อมา คุณแม่บอกว่าลูกยังอาเจียนบ่อยอยู่ จึงนัดให้มาชั่งนน.ดูอีกครั้ง พบว่านน.ขึ้น 64 กรัม/วัน ซึ่งเป็นเกณฑ์นน.ขึ้นแบบเกินปกติไปเยอะจนเรียกว่า Overfeeding ทั้งๆที่กินนมแม่จากเต้าเท่านั้น สรุปว่าตอนนี้ที่อาเจียน เป็นเพราะแม่ให้กินเข้าไปเยอะเกินไป เรื่องกรดไหลย้อนดีขึ้นแล้วด้วยยา ถ้าคุณแม่ควบคุมไม่ให้ลูกกินพร่ำเพรื่อ และไม่ต้องปลุกลูกขึ้นมาดูดนมบ่อยๆแล้ว เพราะนน.ขึ้นดีแล้ว อาการอาเจียนก็จะดีขึ้นได้ พอเห็นลูกน้ำหนักขึ้นเยอะขนาดนี้ คุณแม่ก็คลายความกังวลไปมาก เพราะลึกๆแล้ว ไม่ค่อยมั่นใจว่า ตนเองมีน้ำนมพอ เนื่องจากมีลูกตอนอายุมากแล้ว
ข้อคิดจากกรณีตัวอย่างนี้คือ หากพบเด็กมีปัญหานน.ตัวขึ้นน้อย อย่าเพิ่งผลีผลามรีบด่วนสรุปว่า เป็นเพราะน้ำนมแม่ไม่พอ แล้วแก้ปัญหาโดยการให้เสริมนมผง เพราะในความเป็นจริงคือ มีจำนวนคุณแม่ที่น้ำนมมีน้อยจริงๆบนโลกนี้เพียงร้อยละ 5 ส่วนอีกร้อยละ 95 ที่ให้นมแม่ไม่สำเร็จ เป็นจากสาเหตุอื่น ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงควรพยายามช่วยกันหาของสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจาก อะไร เพื่อทำให้คุณแม่สามารถให้นมแม่ต่อไปได้สำเร็จ เพราะในรายนี้ ถ้าป้าหมอไม่สามารถให้คำอธิบายได้ว่า เพราะอะไรลูกกินนมแม่แล้ว จึงมีน้ำหนักขึ้นน้อย หากโดนเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นที่กินนมผงแล้วนน.ขึ้นเยอะ คุณแม่ก็คงอดคิดมากไม่ได้ว่า น่าจะเป็นเพราะตนเองมีน้ำนมน้อย แล้วอาจถูกกดดันจากคนรอบข้าง ให้ไปใช้นมผงมาเสริมด้วยในที่สุด