ReadyPlanet.com


โรค มือ เท้า ปาก อาการ ของโรคที่มากับหน้าฝน พ่อแม่ควรระวัง


 

            โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ อาการของโรค มือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ก่อน หลังจากนั้นก็เกิดแผลบริเวณปาก ผื่นขึ้นบริเวณมือและเท้า อันเป็นที่มาของชื่อโรค มือ เท้า ปาก มักเกิดขึ้นกับเด็กทารก และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ

 

โรค มือ เท้า ปาก อาการ

            เด็กที่ป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก เริ่มต้นจะเกิดอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้ มีผื่นที่มือที่เท้า มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ และจะมีแผลในปาก โดยส่วนใหญ่แผลในปากจะพบได้หลายตำแหน่ง พบได้ที่บริเวณเพดานแข็ง กระพุ้งแก้ม เพดานอ่อน และบริเวณลิ้น หรือกับผู้ป่วยบางรายแผลอาจจะลามมาขึ้นบริเวณรอบ ๆ ปากด้านนอก ส่วนผื่นที่เกิดขึ้นตามมือและเท้า มักจะเกิดเป็นตุ่มแดง ๆ หรือตุ่มน้ำใส

 

สาเหตุของโรค มือ เท้า ปาก

            มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ตุ่มน้ำใส หรือผื่น ของผู้ป่วย

 

ภาวะแทรกซ้อน

            ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หลายระบบ ได้แก่

·       ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเป็นต้น

·       ระบบประสาทส่วนกลาง เยื่อบุสมองอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ 1-5 รายต่อปี และมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิต

พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาหารของลูกอย่างใกล้ชิดว่ามีอาการอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ หรือมีอาการเสี่ยงรุนแรงส่งผลต่อสุขภาพ อย่างเช่น อ่อนเพลีย นั่งซึม หายใจหอบ ชักเกร็ง หมดสติ ให้รีบเข้าพบแพทย์ในทันที

 

ผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

·       กลุ่ม ipd คือ กลุ่มผู้ป่วยใน เป็นผู้ที่มีอาการหนัก ต้องรักษาในโรงพยาบาล อยู่ใกล้ชิดแพทย์

·       กลุ่ม opd คือ กลุ่มผู้ป่วยนอก สามารถรักษาเองได้ที่บ้าน โดยกินยาตามที่แพทย์สั่ง

 

ผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องรีบมาพบแพทย์

            ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก พ่อแม่หรือญาติต้องรีบพามาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา หรือแอดมิทเป็นผู้ป่วย ipd คือ ผู้ป่วยในที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่

·       ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 48 ชั่วโมง

·       รับประทานอาหารได้น้อยมาก และอาเจียน

·       มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ซึม กล้ามเนื้อกระตุก การกรอกตาที่ผิดปกติ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ชักเกร็ง แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

·       กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา

·       ตัวซีด ตัวลาย

            ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่แล้วจะหายเองได้ภายใน 5-7 วัน เป็นผู้ป่วยในกลุ่ม opd คือ ผู้ป่วยนอก กินยาตามที่แพทย์สั่ง รักษาตามอาการได้ที่บ้าน แต่หากมีอาการหนักตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

การป้องกันการแพร่เชื้อ และการดูแล

            บ้านที่มีผู้ป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก รักษาอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ควรแยกเด็กและหยุดเรียนก่อน พยายามให้เด็กอยู่ห่างจากคนอื่นและหลีกเลี่ยงพาเด็กไปในที่สาธารณะจนกว่าจะรักษาหาย เพื่อไม่ให้นำไปติดกับคนอื่น ๆ  และผื่นหรือตุ่มแห้งสนิทประมาณ 7-10 วัน

            การดูแลเด็กป่วย ให้เช็ดตัวบ่อย ๆ กินยาลดไข้และยาอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่ง ทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด สามารถรับประทานของเย็นได้ ควรแยกภาชนะสำหรับผู้ป่วย ไม่ใช้ร่วมกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ใช้ผ้าหรือกระดาษชำระปิดปากเวลาไอ จาม ทิ้งขยะติดเชื้อให้มิดชิดในถังขยะที่มีฝาปิดป้องกันการแพร่เชื้อต่อ ผู้ดูแลเด็กป่วยควรล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสกับผู้ป่วย สังเกตอาการเด็กอย่างใกล้ชิดว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นหรือไม่

 

โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในเด็ก

            มีอีกหนึ่งโรคที่มาในช่วงหน้าหนาว หรือหน้าฝนคือ โรค RSV ที่มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในเด็ก อาการ rsv จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่มีอาการหนักกว่าไข้หวัด อาจเป็นเพราะมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งควรระมัดระวังไม่ให้หนักกว่าเดิม

 

            หากพบว่าลูกป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ทางที่ดีที่สุดคือ การหยุดการแพร่เชื้อ ระมัดระวังไม่ให้ติดต่อไปยังผู้อื่น เมื่อป่วยก็ต้องหยุดเรียน หลีกเลี่ยงการพบปะกับเด็กคนอื่น ๆ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รักษาสุขอนามัย และรักษาอาการตามคำแนะนำของแพทย์

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ nemophilanie (nemophilanie-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2022-11-04 00:41:46 IP : 124.120.78.173


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล