
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และความรู้สึกผิด ![]() Jack Newman, MD, FRCPC
หนึ่งในข้อโต้แย้งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสุขภาพ, หน่วยงานของรัฐ และบริษัทผู้ผลิตนมผงดัดแปลงสำหรับทารกนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ส่งเสริมและสนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็คือ " เราไม่ควรทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ " ซึ่งแม้แต่ผู้สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเต็มที่ยังพลอยเสียท่าไปกับกลยุทธ์นี้ด้วย
ทั้งนี้เพราะแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีความหมายอะไรเลย นอกเสียจากเป็นแค่อีกกลยุทธ์หนึ่ง มันเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเพื่อที่จะเบี่ยงเบนความสนใจจากการที่บรรดาบุคลากรในแวดวงสุขภาพ ขาดซึ่งความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่ถูกต้อง คำกล่าวอ้างนี้ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องรู้สึกผิดกับการที่พวกเขาเพิกเฉยไม่สนใจว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ผู้เป็นแม่ทั้งหลายสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากของ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เป็นแม่ทั่วไปสามารถจะทำได้ไม่ยาก และยังสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆถ้าผู้เป็นแม่ไม่ถูกทำให้รู้สึกท้อจนล้มเลิกความพยายามในการให้นมลูกไปเสียก่อน
ข้ออ้างดังกล่าวนี้ยังดูเหมือนจะทำให้บริษัทผู้ผลิตนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพไม่รู้สึกผิดในการแจกจ่ายเอกสารโฆษณาเกี่ยวกับนมผสมสำหรับทารกและตัวอย่างสินค้าแจกฟรีให้กับหญิงตั้งครรภ์และคุณแม่คนใหม่ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่เคยมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า การให้ตัวอย่างนมผสมฟรีและเอกสารโฆษณาเหล่านี้ มีผลกระทบให้อัตราและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงก็ตาม
ลองมาดูในชีวิตจริงของเรากันบ้าง สมมติว่าถ้ามีหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งไปพบแพทย์ของเธอ และสารภาพกับแพทย์ไปว่าเธอได้สูบบุหรี่ไปหนึ่งซอง มันจะไม่ทำให้เธอกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกผิดที่ได้ทำลายการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างนั้นหรือ หรือถ้าเธอยอมรับว่าเธอดื่มเบียร์ทีละสองแก้วอยู่บ่อยๆ, แพทย์จะไม่ทำให้เธอกลับไปพร้อมกับรู้สึกผิดอย่างนั้นหรือ หรือถ้ามีแม่คนหนึ่งบอกว่าปกติเธอนอนเตียงเดียวกับลูกวัยทารกของเธอ แล้วแพทย์จะไม่พูดอะไรให้เธอรู้สึกผิดต่อการกระทำแบบนี้หรือ ถึงแม้จะมองว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเธอและลูกก็ตาม หรือถ้าเธอมาพบแพทย์พร้อมกับลูกของเธอซึ่งมีอายุได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ และบอกกับแพทย์ของเธอไปว่า เธอให้ลูกของเธอดื่มนมโฮโมจีไนซ์ แพทย์ของเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ส่วนใหญ่คงแทบชักไปเลย และพวกเขาคงจะไม่มีปัญหาแน่นอนในการที่จะทำให้บรรดาคุณแม่รู้สึกผิดต่อการที่เธอให้ลูกดื่มนมวัวสดๆ จากนั้นก็บังคับพวกเธอให้มาเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงแทน (ไม่ใช่บังคับพวกเธอให้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ต้องย้ำตรงนี้ด้วย เพราะว่า "คุณไม่ต้องการที่จะทำให้แม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่")
แล้วทำไมยังมีการผ่อนปรนต่อนมผสมหรือนมดัดแปลงสำหรับทารกอีกล่ะ? เหตุผลก็คือ บรรดาบริษัทจำหน่ายนมผสมประสบความสำเร็จอย่างล้นพ้นในการโฆษณาและโน้มน้าวให้ทั่วโลกเห็นว่า การเลี้ยงทารกด้วยนมผสมนั้นดีเทียบเท่ากับการเลี้ยงด้วยนมแม่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทำให้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ดังที่ประธานกรรมการบริษัทเนสเล่ท์ประจำโตรอนโตได้เคยกล่าวไว้ว่า "การโฆษณาน่ะใช้ได้ผลอย่างไม่ต้องสงสัย" มันยังเป็นอีกทางที่จะบรรเทาความรู้สึกผิดของบรรดาบุคลากรทางการแพทย์เองหรือภรรยาของพวกเขาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ "ฉันจะไม่ทำให้บรรดาคุณแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่รู้สึกผิดหรอกนะที่ไม่ได้ให้นมตนเองเลี้ยงลูก เพราะว่าฉันไม่ต้องการที่จะรู้สึกผิดต่อลูกของฉันเองที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาด้วยนมแม่"
ทีนี้เราลองมาดูให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยทางทฤษฎีแล้ว นมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้นเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงทารกมากกว่านมวัวสดๆ อย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่เคยมีผลการศึกษาทางคลินิคที่แสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างหรือไม่ระหว่างเด็กทารกที่ดื่มนมวัวสดๆ และทารกที่ดื่มนมผงดัดแปลง (ไม่มีรายงานวิจัยใดเลย) ส่วนน้ำนมแม่และการให้ลูกดูดนมจากอก (ซึ่งไม่เหมือนกับการนำน้ำนมแม่มาป้อนเด็ก) โดยทางทฤษฎีแล้ว มีประโยชน์อย่างมากกว่านมผงดัดแปลงที่กล่าวอ้างว่ามีประโยชน์มากกว่านมวัวหรือนมจากสัตว์อื่นนั้นเสียอีก
และพวกเราก็กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์นานับประการเหล่านี้ เกือบจะแทบทุกวันที่มีการศึกษาและการวิจัยทางคลินิคมากมายซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้ดื่มนมแม่และตัวแม่เองนั้น มีสุขภาพดีกว่าเด็กที่ดื่มนมผสม แม้แต่ในกลุ่มที่มีฐานะก็ตาม ก็จะพบลักษณะดังกล่าวเช่นกัน โดยเด็กที่ดื่มนมแม่จะพบการติดเชื้อของหู และลำไส้อักเสบในอัตราเพียงเล็กน้อย และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะพัฒนาเป็นโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น รวมไปถึงโรคอื่นๆอีกด้วย ส่วนตัวแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองนั้นก็มีโอกาสน้อยกว่าที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ และยังอาจช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนอีกด้วย
ดังนั้น เราควรทำอย่างไรเพื่อที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หญิงตั้งครรภ์ทุกคนรวมไปถึงครอบครัวของพวกเธอควรจะได้รับรู้ถึงความเสี่ยงของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม พวกเขาควรจะได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพวกเขาควรจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีที่สุดจากบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่วันที่ทารกได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะว่าความตั้งใจดีเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดหัวนมของแม่ จากการที่ให้ลูกดูดนม หรือช่วยให้แม่ผู้ซึ่งถูกบอกว่า เธอควรจะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะว่าความเจ็บป่วยของเธอหรือลูก หรือแม่คนหนึ่งซึ่งไม่ได้ถูกแนะนำเรื่องการให้นมลูกอย่างเหมาะสม รู้สึกดีขึ้นได้ หยุดสร้างความผิดพลาดกันเสียที เพราะคำแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์นี่ล่ะ ที่เป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้เหล่าผู้เป็นแม่ทั้งหลายต้องล้มเหลวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ถ้าแม่ทั้งหลายได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ จากการเลี้ยงทารกด้วยนมผสมแล้วยังตัดสินใจที่จะใช้นมผสมเลี้ยงลูก ก็ถือว่าพวกเธอได้ตัดสินใจเลือกอย่างผู้ที่ทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว และข้อมูลนี้ต้องไม่ใช่มาจากบริษัทผู้จำหน่ายนมผสมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในแผ่นพับเหล่านั้นมักจะบอกถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วก็เขียนคำบรรยายให้ผู้อ่านเข้าใจไปว่า นมผสมของบริษัทตนนั้นมีคุณสมบัติดีพอๆ กับนมแม่
ถ้าบรรดาคุณแม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีที่สุดเพื่อที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้แล้ว และพบในภายหลังว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นไม่เหมาะกับตนเอง ผมจะไม่รู้สึกเสียใจเลย มันเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรตระหนักอย่างยิ่งว่า การจะเปลี่ยนจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปเป็นการเลี้ยงด้วยนมขวดนั้นง่ายดายมาก ในช่วงวันแรกๆหรือสัปดาห์แรกๆ เรื่องแบบนี้ไม่เป็นปัญหาเลย แต่ในทางกลับกัน หากเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมจากขวด แล้วจะเปลี่ยนกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองนั้น ยากเย็นกว่ามาก หรือเรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แม้ว่าจะไม่เสมอไปก็ตาม
ถึงที่สุดแล้วใครกันที่จะรู้สึกผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? ไม่ใช่พวกคุณแม่ทั้งหลายที่ตัดสินใจให้ลูกดื่มนมผสมทั้งๆ ที่ทราบข้อมูลแล้วหรอก แต่เป็นผู้หญิงซึ่งต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, ผู้ที่พยายามแล้วแต่ไม่สามารถที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่างหาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พวกเธอรู้สึกผิดที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควบคู่ไปกับการสนับสนุนอย่างดีต่างหาก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏในสังคมของกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและยุโรป
ขอขอบคุณ คุณพัชรินทร์ เจริญบุตร สำหรับบทความแปลเรื่องนี้ด้วยค่ะ
|