
13 เม.ย. 49 เปิดใจ webmother ![]() อาศัยฤกษ์ดีวันสงกรานต์สร้างหน้านี้ขึ้นมาใหม่เพื่อเปิดใจคนทำเว็บเสียทีนะคะ เผื่อว่าคนที่ผ่านไปผ่านมาเกิดนึกสงสัยที่มาของเว็บนี้ว่าเอ๊ะ เป็นไงมาไง ทำไมถึงมีเว็บนี้ขึ้นมาได้ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ webmother อายุสามสิบกว่าๆ (กว่าเท่าไหร่ก็อย่าไปสนใจดีกว่านะ) มีลูกสองคนค่ะ คนโตเป็นลูกสาวชื่อ “ไอโกะ” อายุสามขวบกว่า คนเล็กเป็นผู้ชายชื่อ “โอกิ” เกือบจะหกเดือนแล้วค่ะ ตอนมีลูกคนแรกเคยเข้าเว็บแปลนบ่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาเข้าแล้ว ตอนมีลูกคนแรกก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่เลยว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด (จริงๆ มันก็ไม่ยากนะคะ เดี๋ยวคุณแม่มือใหม่มาอ่านเข้าจะตระหนกตกใจและเป็นกังวลเกินเหตุ ถ้าเราเตรียมตัวและหาข้อมูลดีพอ ก็จะรับมือกับเรื่องที่ว่ายากๆ นั้นได้ง่ายขึ้นค่ะ) เรื่องลูกคนแรกนี่จะไม่เล่าซ้ำแล้วนะคะ อ่านได้จาก Link นี้ค่ะ (เป็นบันทึกที่เขียนไว้ให้ลูกอ่านตอนโต แล้วก็เคยส่งไปลงในเว็บของกลุ่มนมแม่ด้วยค่ะ) ช่วงที่มีลูกคนแรก กระแสการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังไม่แรงเท่าเวลานี้ ตอนนั้นกลุ่มนมแม่เพิ่งเริ่มตั้งใหม่ๆ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยก็ยังไม่มี ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เรียกได้ว่าน้อยมากๆ อาศัยว่าตั้งใจจริงก็เลยผ่านมาได้ แต่ก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก ตัวอย่างเช่นให้ลูกทานกล้วยตั้งแต่สามเดือนกว่า แล้วก็เริ่มนมถั่วเหลือง (ทำเอง) ประมาณสิบเดือน เพราะกลัวว่านมแม่ไม่พอ (ดูสิ ใครๆ ก็กลัวนมแม่ไม่พอกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลมากค่ะ) แล้วก็หย่านมแม่ตอนที่ลูกคนโตอายุ 1 ปี 7 เดือน (เพราะแม่ขี้เกียจแล้ว) ถึงแม้ว่าตอนที่เลี้ยงลูกคนโตด้วยนมแม่จะทำไม่ได้ถูกต้องตามคำแนะนำของ WHO หรือ Unicef เป๊ะๆ แต่ก็เห็นถึงความแตกต่างและทำให้เชื่อมั่นถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ว่ามีมากกว่านมผสมมากๆ เพราะเค้าแข็งแรงมาก ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเลย ไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีนเท่านั้น พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็ดี หลังจากนั้นก็พยายามจะบอกคนที่รู้จักให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตลอด ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามที่ไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่ ถ้าสอบก็คงตกแน่นอน คือแนะนำไปเป็นสิบคน มีคนทำได้ (ให้แต่นมแม่ ไม่ให้นมผสม) แค่คนเดียว ปัญหาหลักๆ เลยคือ ทุกคนบอกว่านมไม่พอ ลูกไม่อิ่ม นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายตลบก็สรุปกับตัวเองได้ว่า ที่คนส่วนใหญ่คิดเช่นนั้น ก็เพราะไม่ได้รับข้อมูลความรู้ และการเตรียมตัวที่ดีพอ โดยเฉพาะจากแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งควรจะส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเพื่อให้แม่ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่านี้ (แต่ในความเป็นจริงคือ ทุกวันนี้แม่ทุกคนพาลูกกลับบ้านพร้อมกับนมผสม 1 กระป๋องจากโรงพยาบาล ถ้าแม่ให้ลูกกินนมกระป๋องนี้หมด ก็พอดีเวลากับแม่นมแห้งเลย) พอคลอดลูกคนที่สองเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่ร้างลาไปนาน ก็เริ่มเตรียมตัวและหาข้อมูลใหม่ๆ คราวนี้พบว่ามีศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยแล้ว แต่กลุ่มนมแม่กลับยุติบทบาท เหลือไว้แต่เว็บไซท์ให้ดูต่างหน้า ทำไมหนอบ้านเราเมืองเราถึงเป็นเช่นนี้ ตอนเลี้ยงลูกคนแรกไม่เคยเข้าเว็บไซท์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของต่างประเทศเลย ไม่เคยรู้เลยว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นจริงๆ แล้วมันมีเรื่องสลับซับซ้อนให้เรียนรู้ให้ค้นหามากกว่าที่คิด พอมีลูกคนที่สองได้เข้าไปดูเว็บไซท์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของต่างประเทศ แล้วก็พบว่ามีข้อมูลและความรู้ดีๆ เยอะมากๆ ผู้คนทั่วโลกเค้าส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับแบบจริงๆ จังๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองค้นหาคำว่า “breastfeeding” ใน google จะพบ 16,900,000 รายการ มีทุกเรื่องที่สงสัย ที่อยากรู้ แต่พอค้นคำว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” จะพบประมาณ 11,400 รายการ ดูเหมือนเยอะใช่มั้ยคะ แต่พอเข้าไปดูแต่ละรายการแล้ว จะพบว่าเป็นข้อมูลความรู้แบบทั่วไป กว้างๆ (กว้างจนแทบช่วยอะไรไม่ได้) เช่น บอกว่าควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมแม่ดียังไง เป็นต้น บางข้อมูลก็มีเนื้อหาที่ล้าสมัยซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เคยอ่านเจอใน www.breastfeeding.com ซึ่งผู้จัดทำ พูดประมาณว่าเค้าคิดว่าเว็บของเค้ามีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ทีเดียว แต่เค้าก็ยังแนะนำให้คุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือคู่มือดีๆ ประกอบด้วย ก็เลยลองหาหนังสือเกี่ยวกับ “breastfeeding” ใน Amazon มีไม่เท่าไหร่ค่ะ ห้าร้อยกว่าเล่มเท่านั้นเอง พอลองมาหาดูที่เป็นภาษาไทยเจอแค่สามสี่เล่มที่เอามาแนะนำนั่นแหละค่ะ เมื่อสองเดือนก่อนเลยฝากเพื่อนที่อเมริกาซื้อมาให้เล่มนึงชื่อ “The Womanly Art of Breastfeeding” หนาสี่ร้อยกว่าหน้า พูดถึงเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ (ยังอ่านไม่จบค่ะ เพราะภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง) เล่าไปเล่ามาชักจะหลงประเด็นไปทุกทีค่ะ เอาเป็นว่าพอเห็นว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเค้ามีอะไรดีๆ ก็เลยอยากให้บ้านเรามีบ้าง ข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เราไปเสาะหามา แทนที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเองหรือแค่คนใกล้ชิด (ซึ่งพอเวลาผ่านไป ลูกเราโตไปแล้ว เราก็คงไม่ได้สนใจอีก) เท่านั้น ถ้าเราเอามารวมๆ กันไว้ ผู้คนผ่านไปผ่านมาได้พบเจอ นำไปใช้ได้เป็นประโยชน์ ช่วยให้หนูน้อยทั้งหลาย ได้กินนมแม่ของเค้าเอง ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเอง กับคุณแม่ กับครอบครัว กับประเทศชาติ (ฟังดูยิ่งใหญ่เกินไปมั้ยคะ) ต่อไป นั่นคือ”ที่มา”ของเว็บนี้ค่ะ ตั้งแต่เริ่มทำเว็บนี้เมื่อปลายเดือนม.ค. 49 จนถึงวันนี้ก็เกือบสามเดือนแล้ว รูปร่างหน้าตา เนื้อหา ก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยตามอารมณ์แม่ลูกอ่อน บางคืนนั่งทำดึกๆ ดื่นๆ ให้นมลูกไปด้วย พิมพ์ไปด้วยก็มี แถมยังขโมยเวลาที่ควรจะเล่นกับลูกคนโตก่อนนอนมาทำอีกด้วย บางแว่บก็นึกเหมือนกันว่า มานั่งทำบ้าอะไรอยู่เนี่ย ไม่มีใครใช้ให้ทำซะหน่อย หรือจะเลิกดี แต่พอนึกถึงว่ายังมีคุณแม่คุณพ่อมือใหม่ทั้งหลายอีกเป็นจำนวนมากที่แทบไม่รู้เลยว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องทำอย่างไร จะเริ่มอย่างไร มีปัญหาแล้วจะแก้ยังไง หรือที่แย่ที่สุดคือ ยังมีพ่อแม่อีกนับไม่ถ้วนที่หลงไปกับกลยุทธ์ทางการตลาดจนคิดว่านมผสมดีกว่านมแม่ จนไม่พยายามจะให้ลูกกินนมแม่เลยก็มี ก็เลยคิดว่า เอาเถอะไหนๆ ก็ทำไปแล้ว อยู่ดีๆ จะเลิกทำไมให้เสียเปล่า ทำเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน จนถึงวันนี้ก็นึกชมตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำไปได้ยังไง (อย่าเพิ่งหมั่นไส้นะคะ ไม่มีคนชม เลยต้องชมตัวเอง) ทั้งๆ ที่แทบไม่มีความรู้เรื่องการทำเว็บเลย ต้องขอบคุณเว็บสำเร็จรูปค่ะ ไม่งั้นคงทำไม่รอด ชมตัวเองเสร็จแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่า จริงๆ แล้วยังทำได้ไม่ดีหรอกค่ะ ยังไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ แต่ด้วยความที่มีแค่หนึ่งสมองกับสองมือที่ต้องทำเรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะไปด้วย ได้แค่นี้ก็ถือว่าบุญแล้วค่ะ ยังมีเนื้อหาอีกมากที่ต้องการเพิ่มเติมลงไป แล้วก็อยากจัดหมวดหมู่ให้ดีกว่านี้ คงต้องค่อยๆ ทำไป ถือเป็นลูกอีกคนที่ต้องคอยดูแล ค่อยๆ เลี้ยงให้โตไปพร้อมกับลูกเรา webmother@breastfeedingthai.com |