
นมไม่พอ - บันทึกการให้นมลูก ![]() สวัสดีค่ะ คราวนี้หายหน้าไปนานเลยนะคะ อยู่ดีๆ ก็ขาดแรงจูงใจไปซะงั้น สงสัยจะเข้าวัยทองเสียแล้ว ก่อนจะบ่นมากไปกว่านี้ เข้าเรื่องดีกว่า ความจริงคราวนี้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนมน้อย นมไม่พอ จะเพิ่มน้ำนมได้อย่างไรฉบับสมบูรณ์เสียที แต่หลังจากคิดวางพล็อต (ยังกะจะเขียนนิยายแน่ะ) อยู่หลายวันก็สรุปกับตัวเองได้ว่า มันจะต้องยาวมากๆๆๆๆ เพราะสาเหตุ ปัญหา และวิธีแก้มันจะโยงไปโยงมาหลายเรื่อง แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี พาลจะเลิกอัพเดทเอาซะวันละหลายรอบ คิดไปคิดมาหลายตลบ เลยคิดได้ว่าน่าจะเริ่มจากประเด็นที่ว่า “นมแม่ไม่พอ” นี่ล่ะค่ะ ต้นตอของปัญหาน่าจะอยู่ที่คำจำกัดความของคำว่า “นมแม่ไม่พอ” นี่เอง ตั้งแต่ท้องแล้ว คุณแม่ทุกคนก็ล้วนแต่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันทั้งนั้น แต่ทำไมพอคลอดแล้วกลับเอานมผสมให้ซะนี่ จำไม่ได้ว่าเคยอ่านหรือได้ยินมาจากไหน อาจจะเป็นเว็บไซต์ของกลุ่มนมแม่หรือไงนี่แหละ เค้าบอกประมาณว่าที่มีน้อยน่ะไม่ใช่นมแม่ แต่เป็น “ความมั่นใจ” ต่างหาก เมื่อคนรอบข้างรุมกระหน่ำว่าลูกไม่อิ่ม ข้อหาฉกรรจ์ก็มาตกที่แม่ว่า “ไม่มีนม หรือนมมีน้อย” เจอข้อหานี้เข้าไป ภาษาวัยรุ่นก็ต้องเรียกว่าทำให้แม่เสีย self ไปเลย คราวนี้ก็ได้จังหวะของฮีโร่ตัวแสบคือ “นมผสม” ทันที พอได้เริ่มนมผสมเมื่อไหร่ ทีนี้ล่ะก็ อนาคตของนมแม่ก็เริ่มริบหรี่ลงทันใด พอเวลาผ่านไป นมแม่ก็น้อยลงๆ นมผสมก็มากขึ้นๆ แล้ววันนึงแม่ก็กลุ้มใจ ทำยังไงดี อยากให้ลูกกินนมแม่นานๆ เริ่มหาข้อมูล ทำยังไงให้นมเยอะๆ แล้วเราก็ได้มาเจอกัน ไชโย้! ชักจะเป็นนิยายไปจริงๆ แล้วค่ะ กลับมาเข้าประเด็นก่อน คำว่า “นมไม่พอ” นี่ใครควรจะเป็นคนตัดสินคะ ในบรรดาคนที่เกี่ยวข้องก็มี ลูก แม่ พ่อ คุณหมอ คุณย่าคุณยาย พี่เลี้ยงลูก เพื่อนแม่ เพื่อนพ่อ คุณน้าคุณอา คนข้างบ้านผู้หวังดี อู๊ยยย....เยอะแยะไปหมดเลย ลองคิดดูนะคะว่าที่เราคิดว่านมไม่พอนั้น เป็นเพราะเราฟังมาจากใคร คนสำคัญที่จะบอกเราได้ว่านมแม่ “พอ” หรือไม่คือ “ลูกน้อยกลอยใจ” ของเรานั่นเอง แต่บังเอิญว่าในบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายนั้น ลูกเราเป็นคนเดียวที่พูดไม่ได้ ในเมื่อเค้าพูดไม่ได้ เราก็ต้องสังเกตจากสิ่งต่างๆ ว่าเค้าได้รับนมแม่พอหรือไม่ วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าลูกได้รับน้ำนมพอแน่ๆ ก็คือ · ลูกจะต้องดูดนมอย่างสม่ำเสมอ บ่อยเท่าที่ลูกต้องการ (โดยไม่ให้นมผสมหรือน้ำเลย) โดยทั่วไปจะประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน บางคนอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ ถ้ามากกว่า 12 ครั้งไม่เป็นไร แต่ถ้าน้อยกว่า 8 ครั้ง ลูกอาจจะนอนนานไป ควรปลุกลูกขึ้นมากินบ่อยขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม · ปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 6-8 ครั้ง อุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือทุกครั้งที่ดูดนม (หลัง 6 สัปดาห์ไปแล้ว เด็กบางคนอาจจะถ่ายวันละครั้ง หรือสามสี่วันค่อยถ่ายครั้งนึงก็ถือว่าปกติ ถ้าอุจจาระไม่แข็ง) · น้ำหนักเพิ่มเดือนละ 680-906 กรัม ภายใน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4 -6 น้ำหนักเพิ่มเฉลี่ยสัปดาห์ละ 113-142 กรัม และหลังจาก 6 เดือน- 1 ขวบ เพิ่มสัปดาห์ละ 57-113 กรัม · ลูกมีท่าทางแข็งแรง ผิวพรรณสดใส
ความต้องการน้ำนมของลูกและความสามารถในการผลิตน้ำนมของแม่ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกฎของ Demand และ Supply ตามธรรมชาติ ถ้าแม่ยอมให้ลูกดูดบ่อยๆ ตาม Demand แม่ก็จะมี Supply ให้ลูกตลอดเวลา ในอดีตมีการแนะนำว่าแม่ควรจะให้ลูกดูดนมทุก 4 ช.ม. เพื่อให้น้ำนมเต็มเต้า แต่ในปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่า แม่ที่ให้ลูกดูดบ่อยๆ ทุก 2 ช.ม. (ทั้งๆ ที่เต้านมอาจจะไม่รู้สึกคัด) นั้นมีน้ำนมมากกว่าแม่ที่ให้ลูกดูดทุก 4 ชม. ถ้าเชื่อในกฎของธรรมชาติ แม่ทุกคนก็ไม่ควรจะต้องกังวลเลยสักนิดเดียวว่าจะมีนมไม่พอให้ลูกกิน ตั้งแต่แรกมีมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ มนุษย์ก็เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมาตลอด ไม่เคยต้องอาศัยนมของสัตว์ชนิดอื่น จนกระทั่งเมื่อร้อยกว่าปีนี้เองที่นมวัวเริ่มเข้ามามีบทบาท ก็เพราะมูลเหตุของการค้าและธุรกิจเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ขอให้คุณแม่ทุกท่าน “มั่นใจ” ในตัวเองได้เลยนะคะว่า “เราต้องมีนมให้ลูกกิน” แน่นอนค่ะ แล้วก็อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำทุกครั้งที่ให้นมลูก สุดท้ายนี้มีของฝากเป็น “บันทึกการให้นมลูก” ค่ะ ดัดแปลงมาจาก First Week Daily Breastfeeding Log ตอนที่ไปเจอครั้งแรก รู้สึกว่า อืมม.. นี่แหละที่เราต้องการ ตอนคลอดลูกคนแรก แบบว่าเห่อมาก อุตส่าห์ทำสมุดจดว่า กิน ถ่าย หลับนอน ตอนไหนๆ ทำไปยังงั้นเอง รู้แล้วก็ไม่ได้เอาไปวิเคราะห์ ไปทำประโยชน์อะไร พอมาเจอ log นี้เข้า รู้สึกว่าดีจัง แล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์กับแม่ๆ ทั้งหลาย แถมใช้งานง่ายอีกด้วย แต่เนื่องจากฉบับดั้งเดิมเค้าทำไว้สำหรับ 7 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น แล้วแม่ๆ บ้านเราก็แทบไม่ได้ดูแลลูกเองเลยตอนที่อยู่ร.พ. กลับมาบ้านก็ปาเข้าไปวันที่ 4-5 แล้ว ก็เลยเอามาดัดแปลงอีกทีเป็น 2 ชุด คือ A สำหรับ 7 วันแรก (เผื่อคนที่เอาลูกมา room in ได้) และชุด B สำหรับคนที่เกิน 7 วันไปแล้ว ในรูปนี่เป็นตัวอย่างของชุด A นะคะ ของเดิมเค้าเป็นไฟล์ pdf แก้ไขไม่ได้ พอมาทำใหม่เลยทำด้วย excel เผื่อแม่ๆ ท่านใด อยากจะแก้ไขเพิ่มเติม จะได้ทำได้ง่ายๆ ในไฟล์จะมี 2 sheet คือ ชุด A และ B แยกกันค่ะ สามารถ download ได้ ที่นี่ เลยค่ะ
คราวหน้า (คงไม่นานเกินรอ) จะมาว่ากันต่อเรื่อง False Alarm : เรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่านมไม่พอ พร้อมกับมาหาสาเหตุว่าที่นมไม่พอน่ะ เกิดจากอะไรค่ะ
|