
วันแม่แห่งชาติ - สัปดาห์แห่ง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ![]() สวัสดีค่ะ ทุกท่าน 30 กรกฎาคม 2549 วันที่ 12 เดือนหน้าเป็นวันแม่แห่งชาติของบ้านเรา คนไทยทุกคนคงจะทราบดีอยู่แล้ว แต่มีใครรู้บ้างไหมคะว่าวันที่ 1-7 สิงหาคม ของทุกปีนั้นเป็นสัปดาห์แห่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโลก หรือ World Breastfeeding Week ซึ่งในช่วงเวลานี้ของทุกๆ ปี ทั่วโลกเค้าจะมีกิจกรรมต่างๆ กันเพื่อเฉลิมฉลองและรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในบ้านเราไม่เคยเห็นมีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย (หรือจะมี แต่เราไม่รู้ก็ไม่ทราบได้ค่ะ)
เข้าไปในเว็บไซต์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของต่างประเทศ เค้าพูดถึงเรื่องนี้กันทั้งนั้น เว็บเราไม่อยากเชยก็เลยขอมีส่วนร่วมบ้างค่ะ อยากจะชวนแม่ๆ ทั้งหลายอุ้มลูกไปชุมนุมสนามหลวงเพื่อแสดงพลังของนมแม่เพื่อร่วมฉลองให้ทั่วโลกเค้าประจักษ์เหมือนกัน แต่กลัวไปแย่งซีนม็อบการเมือง ก็เลยขอมีส่วนร่วมแบบเล็กๆ ในพื้นที่ของเราดีกว่านะคะ
ตอนที่เริ่มทำเว็บใหม่ๆ ไม่ได้คิดว่าจะเลยเถิดมาขนาดนี้เลยค่ะ คิดว่าทำเล่นๆ ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างมันก็รู้สึกครึ้มใจดี ถ้าใครเคยเข้ามาในเว็บนี้ตั้งแต่แรกๆ คงจะจำได้ว่าตอนทำใหม่ๆ นี่ดูไม่ได้เลยเชียว นึกถึงแล้วยังเขินอยู่เหมือนกัน ตอนที่เริ่มทำก็คิดว่าทำสักสามเดือนคงจะเสร็จ แล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ปรากฎว่าคิดผิดถนัด จนทุกวันนี้เนื้อหาในเว็บนี่ยังไม่ได้เสี้ยวของที่ควรจะเป็นเลยค่ะ อีกหน่อยอินเตอร์เนตนี่มันต้องทำให้เราสำลักข้อมูลตายหน้าเครื่องแน่ๆ เลย ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็ใช่ อันนี้ก็จำเป็น อันนี้ไม่รู้ไม่ได้ โอ้โฮ...แฮะ ทำอะไรไม่ถูกเลย น่าจะถูกแจ็กพ็อตยี่สิบห้าล้าน จะได้จ้างคนมาทำ จะได้ทันใจเรากว่านี้
ในช่วงแรกที่ทำเว็บนั้น พ่อของลูกเคยบอกว่าเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด มาแก้เอาที่ปลายเหตุ แบบนี้มันยากและไม่จบเสียที ต้องไปโน่นไปให้ความรู้กับแม่ตั้งแต่ยังไม่คลอด ตอนที่คุยกันนั้น นึกถึงการจัด Breastfeeding Class สำหรับแม่ตั้งครรภ์เลยนะคะ แต่สุดท้ายก็ติดว่า แล้วใครจะมาเข้า class กับเรา เพราะเราไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาล ไม่มีดีกรีอะไรที่จะทำให้คนเชื่อถือได้ สุดท้ายก็เป็นอันพับไป
หลังจากนั้นก็ได้ยินได้ฟัง ได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่อีกจำนวนไม่น้อยถึงปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมันก็ตอกย้ำไปที่จุดเดิมคือ ถ้าทุกคนได้รับความรู้ ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนคลอด และช่วงที่อยู่ในโรงพยาบาล ปัญหาเหล่านี้มันจะไม่เกิด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มันจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ แต่จะทำยังไงให้ทุกโรงพยาบาลหันมาสนใจและสนับสนุนนมแม่กันอย่างจริงจังเสียที
จากข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วม workshop ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ไม่ได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง โรงพยาบาลของรัฐเองก็มีหลายแห่งที่เป็นเพียงแค่นโยบาย แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม มีคุณแม่และคุณพ่อเล่าให้ฟังเองว่า คลอดในโรงพยาบาลของรัฐที่มีการรณรงค์เรื่องนมแม่ ตอนฝากครรภ์ก็มีการสมัครสมาชิกคลับนมแม่ (เรียกแบบนี้หรือเปล่า ไม่แน่ใจนะคะ) กันเสียดิบดี แต่พอคลอดแล้ว พยาบาลกลับเอานมขวดให้ลูกกิน กลับมาบ้านลูกก็ติดขวด ไม่ยอมดูดนมแม่ คุณแม่อีกท่านนึงก็เล่าให้ฟังว่า อุตส่าห์ทนเจ็บแผลเดินจะไปให้นมลูกที่ห้องเด็กอ่อน ไปถึงทีไร พยาบาลก็บอกว่าให้นมขวดลูกไปแล้ว ตอนนี้หลับอยู่ทุกครั้ง ได้ยินได้ฟังแบบนี้ทำให้จิตใจหดหู่เสียเหลือเกิน
มีอยู่ครั้งนึงที่พาลูกชายคนเล็กไปฉีควัคซีนที่ร.พ.กรุงเทพ มีบริษัทนมผงมาตั้งเคาน์เตอร์หน้าแผนกกุมารเวช ทำการประชาสัมพันธ์สินค้า แสดงให้เห็นว่าในผลิตภัณฑ์ของตนมีส่วนผสมที่ทำให้ฉลาด ไอคิวสูง มีเจ้าหน้าที่มายืนพูดคุย ขอข้อมูล ถามว่าลูกกินนมอะไร พอบอกว่ากินนมแม่ เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่า “ถ้าคุณแม่นมไม่พอ หรือต้องการหย่านม ก็สามารถให้ทานนมนี้แทนได้นะคะ” แล้วก็เขียนชนิดของนมที่จะแจกใส่เศษกระดาษ แล้วให้นำไปยื่นเพื่อขอรับตัวอย่างแจกฟรีที่คุณพยาบาลด้านใน
ตอนนั้นทำให้นึกถึง International Code of Marketing of Breastmilk Substitutes (ข้อตกลงว่าด้วยการตลาดของสารอาหารทดแทนนมแม่ ถ้าสนใจอ่านรายละเอียดได้ ที่นี่ ค่ะ) ขึ้นมาทันทีเลยว่านี่ไง ทำผิดข้อตกลงกันเห็นๆ เลยเชียว แว่บนึงตอนนั้น นึกอยากจะเขียนจดหมายถึงผ.อ.โรงพยาบาลว่าไม่ควรทำแบบนี้เลยนะ แต่คิดไปคิดมาก็รู้สึกว่าคงไมได้ผล เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์กัน เค้าคงไม่รับฟังเราหรอก
เมื่อสัปดาห์ก่อนก็บังเอิญได้ไปอ่านเจอกระทู้นึงในรักลูก มีการประกาศขอหลักฐานการแจกนมผสมจากโรงพยาบาลที่แม่ๆ ทั้งหลายได้รับ เพื่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้นำไปเป็นหลักฐานจับผิด ให้โรงพยาบาลและบริษัทนมผสมหยุดการกระทำดังกล่าวเสีย แต่ดูเหมือนกระทู้ดังกล่าวจะไปอยู่ผิดที่ผิดทาง คือบังเอิญไปอยู่ในกลุ่มแม่ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีพอ ทำให้เข้าใจผิดไปว่าพวกตนนั้นมีความผิดปกติทำให้ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และจำเป็นต้องใช้นมผสม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดที่จะมีการแจกนมผสมในโรงพยาบาล สรุปว่ากระทู้นั้นนอกจากจะไม่ได้หลักฐานแล้ว ยังทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบถูกตำหนิอีกด้วย
ในกระทู้นั้นมีคุณแม่ท่านนึงเขียนมาว่า “... คนที่มีน้ำนมน้อยโดนกดดันมากๆ น้ำตามันไหลเยอะกว่าน้ำนมอีกค่ะ เสียใจค่ะ ไม่ใช่ไม่เสียใจ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมเปิดนมกระป๋องที่เขาแจกชงให้ลูกกิน ดีกว่าปล่อยให้ลูกหิวตายค่ะ” อ่านแล้วก็พลอยจะน้ำตาไหลไปด้วยอีกคน นึกถึงวันแรกที่พาลูกกลับมาบ้าน ความรู้สึกคงไม่ต่างกัน โชคดีที่ว่าเรามีสามีที่คอยสนับสนุนและให้เชื่อมั่นในธรรมชาติ ทำให้เราไม่ต้องใช้นมกระป๋องที่เค้าให้มาเหมือนคุณแม่ท่านนั้น
จากทุกข้อความในกระทู้นั้น แสดงให้เห็นว่าแม่ทุกคน “ต้องการ”เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง ทั้งนั้น แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคทำให้ไม่สำเร็จ เมื่อรวมกับข้อมูลที่ได้รับจาก workshop ก็พบคำตอบว่า ถ้าแม่ทุกคนได้รับความรู้และความช่วยเหลือในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีพอ จากบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องและโรงพยาบาล แล้วล่ะก็ ต่อให้บริษัทนมผสมแจกทองพร้อมนมผสมหน้าห้องคลอด ก็ไม่มีแม่คนไหนเอานมผสมให้ลูกกินหรอกค่ะ ในทางกลับกันถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะเลิกแจกนมผสม แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ไม่รู้ว่านมแม่พอหรือไม่พอ จริงๆ แล้วเป็นยังไง) กลับไปบ้าน ก็ไปซื้อนมมาชงให้ลูกกินอยู่ดี
แต่ทุกวันนี้มีโรงพยาบาลน้อยแห่งมากที่จริงจังกับการสนับสนุนนมแม่ ส่วนใหญ่จะสนับสนุนด้วยวาจา แต่ปฏิบัติตรงกันข้าม เราถึงได้รับแจกนมผสมกลับบ้านกันทุกคนเลยไงคะ ทำยังไงถึงจะให้โรงพยาบาลทุกแห่งหันมาสนใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ต่อไปนี้เป็นความคิดแบบขำๆ แต่อยากให้ลองช่วยกันทำจริงๆ ค่ะ
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว เป้าหมายของเค้าคือ การทำธุรกิจและกำไรค่ะ ถ้าไปขอความร่วมมือเฉยๆ ก็คงจะได้แต่นโยบายที่ไร้การปฏิบัตินั่นแหละค่ะ ถ้าเราอยากให้เค้าทำอะไร เราก็ต้องแลกด้วยสิ่งที่เค้าต้องการ เมื่อก่อนเวลาแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ให้เลือกโรงพยาบาลก็จะให้ถามว่าสนับสนุนนมแม่หรือเปล่าคะ ทุกแห่งก็จะตอบเหมือนกันหมดว่าสนับสนุน แต่พอไปคลอดแล้ว จะเลี้ยงนมแม่ได้หรือไม่นั่นอีกเรื่องนึง ถ้าเลี้ยงไม่ได้ก็โทษว่าเป็นความผิดของแม่ที่ไม่มีน้ำนมเอง
ต่อจากนี้ไปให้เปลี่ยนใหม่นะคะ ก่อนจะไปฝากครรภ์ที่ไหน ให้โทรไปถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ (เดี๋ยวนี้มีทุกร.พ.ค่ะ เพราะการแข่งขันสูง) แบบนี้นะคะ
|
Webmother รำพัน