
ควันหลง แม่ดีเด่น อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ![]() สวัสดีค่ะ คุณแม่ทุกท่าน
คราวนี้หายไปนานมากจริงๆ นานจนทำให้ไฟเกือบมอดทีเดียว หมู่นี้ไม่รู้เป็นยังไงค่ะ วันๆ นึง ทำไมมันผ่านไปเร็วเหลือเกิน มีเรื่องที่จะต้องทำอีกหลายอย่างที่ยังค้างคาอยู่ ไม่จบไม่สิ้นเสียที มนุษย์นี่นับว่าเป็นสัตว์โลกที่ประหลาดดีแท้เชียว สัตว์อื่นๆ ล้วนแล้วแต่ดำรงชีวิตเพื่อการอยู่รอดตามสัญชาตญาณ แต่คนเรานี่ ด้วยว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย ทำให้มีความวุ่นวายในการดำรงชีวิตมากกว่าร้อยเท่าพันทวี ลองคิดดูสิคะ หมา แมว นก หนูพวกนั้นมันไม่ต้องไปรับไปส่งลูกไปโรงเรียน เวลาเจ็บป่วยก็ไม่ต้องพาไปหาหมอ ไม่ต้องไปซื้อของที่โลตัส เซ็นทรัล ไม่ต้องสนใจว่านายกจะมาจากภาคไหน ไม่ ฯลฯ เวลามันคงจะเหลือเฟือนะคะ ไม่เหมือนพวกเราเลย วันๆ หัวปั่นเป็นลูกข่างหมุนไม่หยุด
เอาเถอะค่ะ บ่นพอหอมปากหอมคอ เข้าเรื่องดีกว่า เห็นชื่อเรื่องว่า แม่ดีเด่น อาจจะงงว่าเกี่ยวอะไรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใช่มั้ยคะ ใจเย็นๆ ค่ะ เดี๋ยวก็รู้ว่าเกี่ยวกันยังไง จริงๆ แล้วทุกปีที่มีการประกาศว่าใครเป็นแม่ดีเด่น สาขาอะไรก็ตามแต่ ตัวเองก็จะคิดทุกครั้งเลยว่า แม่ทุกคน เป็นแม่ดีเด่นกันทั้งนั้น ยิ่งคิดถึงว่าแม่เราเอง ทำอะไรให้เราบ้าง แม่ทำงานบ้าน ค้าขาย ทำกับข้าว ดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัว ตัดเสื้อให้ ตัดผมให้ พาไปหาหมอ แม่ทำให้เราทุกอย่าง โดยไม่เคยเรียกร้องอะไรตอบแทน เวลาเราเป็นทุกข์ แม่ก็ทุกข์ด้วย เวลาเราเป็นสุข แม่ก็ยินดีในความสุขของเราอย่างจริงใจ แม่คอยเป็นห่วงเป็นใยเราสารพัดในทุกๆ เรื่อง ขนาดเรามีลูก อาบน้ำให้ลูกยังไม่เป็น แม่ก็จัดการให้ เพียงแค่เอ่ยปาก แม่ก็ทำให้เราได้ทุกอย่าง
พ่อของลูกก็มี แม่ดีเด่น เช่นกันค่ะ คิดดูสิคะสามีท่านเสียไปก่อน ทิ้งลูกซึ่งอยู่ในวัยเรียนไว้ 5 คน ให้ดูแล ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร ต้องทำงานตัวเป็นเกลียว เลี้ยงลูกห้าคน เป็นทั้งพ่อทั้งแม่ในคราวเดียวกัน แบบนี้ไม่ใช่แม่ดีเด่น แล้วจะเรียกว่าอะไรคะ เราคิดว่าแม่ของทุกท่านก็เช่นเดียวกันค่ะ ทำทุกอย่างเพื่อลูกอยู่แล้ว แม่ของใครก็ย่อมเป็น แม่ดีเด่น ของลูกทุกคนค่ะ
เกริ่นเรื่องแม่ดีเด่นไปพอสมควรแล้ว คราวนี้จะเล่าให้ฟังค่ะว่าทำไมถึงต้องพูดถึงเรื่องนี้ สืบเนื่องจากช่วงนี้กระแส การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มาแรงมากๆ เรียกได้ว่า การรณรงค์ให้แม่ทุกคนตระหนักในคุณค่าของน้ำนมแม่ นี่ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายทีเดียว คือ แม่ทุกคนรับรู้และรับทราบแล้วว่า นมแม่ นั้นดีที่สุด แต่ผลพลอยเสีย (ไม่ใช่ผลพลอยได้) จากการรณรงค์เรื่องนี้ก็คือ ทำให้แม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองได้ หรือเลี้ยงได้แบบกระท่อนกระแท่น ครึ่งๆ กลางๆ มีความรู้สึกผิดต่อลูก และต่อตัวเอง ที่ไม่สามารถให้นมตัวเองกับลูกได้
จริงๆ แล้วปัญหานี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาแล้วในต่างประเทศ (อาจจะมีบางท่านเคยอ่าน บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่Dr.Jack แกเขียนเอาไว้แล้ว) บ้านเรายังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้หรอกค่ะ แต่จากการทำ Workshop เพิ่มน้ำนมและอีเมล์ที่ส่งมาถามปัญหาต่างๆ ทำให้เราเริ่มรู้สึกได้ว่า แม่ๆ หลายๆ ท่านที่มีปัญหากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เริ่มมีความรู้สึกนี้ คือ รู้สึกผิดต่อลูก รู้สึกตำหนิตนเอง รู้สึกแย่ว่าทำไมเราไม่มีนมให้ลูกกินเหมือนคนอื่น
ความรู้สึกผิดที่ว่านี้ (เท่าที่ประเมินเอาเองนะคะ) ส่งผลออกมาสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก เมื่อรู้สึกผิด ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ลูกกินนมแม่ให้ได้ ถ้าพยายามแล้วสำเร็จตามต้องการ ความรู้สึกก็จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่สำเร็จ ความรู้สึกผิดก็ยังคอยวนเวียน ยิ่งเห็นสังคมพูดถึงเรื่องนมแม่มากเท่าไหร่ ความรู้สึกนี้ก็คอยเตือนอยู่ในสมองตลอดเวลา ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่สบายใจ อีกลักษณะหนึ่งก็คือ ปฏิเสธการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปเลย ทั้งๆ ที่ในใจก็ต้องการให้ลูกกินนมแม่
ปัญหาเรื่องนมน้อย นมไม่พอ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่รู้สึกแย่ได้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ทำได้สำเร็จ มีนมแม่ให้ลูกกินเหลือเฟือ มีสต็อคเต็มตู้เย็น ทำสถิติปั๊มได้สูงสุดกี่ออนซ์ต่อกี่ออนซ์ สำหรับแม่ที่แค่พอมี ปั๊มให้ลูกได้วันต่อวัน บางวันก็ต้องอาศัยนมผสม เวลาเห็นคนที่มีเยอะๆ ก็ทำเอาเสียความมั่นใจกันเป็นแถว
ชีวิตคนเรา มีเรื่องที่ผิดพลาดได้ตลอดเวลา นับตั้งแต่เกิด ลองคิดดูสิคะว่าเราทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ทั้งเรื่องเรียน เรื่องความรัก เรื่องงาน เรื่องเพื่อน ฯลฯ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งในชีวิตเรา การที่เราบังเอิญมาอยู่ในช่วงของเวลาที่ผิดพลาด คือ ไม่มีความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่ดีพอจากโรงพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ ที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง (มีแม่ที่เป็นพยาบาลอย่างน้อย 3 คนเชียวนะคะที่ขอความช่วยเหลือเข้ามาด้วยเหมือนกัน) แต่กลับรณรงค์อย่างกว้างขวางว่านมแม่ดีที่สุด แม่ทุกคนควรเลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง เห็นมั้ยคะว่า พวกเราอยู่ระหว่างความเป็นจริงที่มันขัดแย้งกัน (คิดดูสิคะกว่าสามสี่สิบปีมาแล้วที่คนเริ่มนิยมเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ในช่วงเวลานั้น ใครเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถูกหาว่าไม่มีเงินด้วยซ้ำ) เพราะฉะนั้นความผิดพลาดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องนำมาตำหนิตัวเอง หรือรู้สึกผิดอะไรเลยค่ะ
แทนที่จะรู้สึกผิด หรือโทษตัวเอง มาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าเมื่อมีอะไรผิดพลาดไปแล้วแบบนี้ เราจะแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้อย่างไรบ้าง ก่อนอื่นขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า แม่คนไหนๆ ก็สามารถจะมีน้ำนมเกินพอสำหรับลูกของตัวเองได้ ถ้าได้รับความรู้และคำแนะนำให้เริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง คนที่ปั๊มนมได้เยอะๆ มีนมเต็มตู้ ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากไปกว่าคนอื่น ใครๆ ก็สามารถทำได้ค่ะ อยากบอกกับคุณแม่ทั้งหลาย (ที่ไม่ได้มีโอกาสเริ่มต้นที่ดี และกำลังประสบปัญหานมไม่พออยู่ในขณะนี้นั้น) ว่าคุณไม่ได้มีอะไรบกพร่องหรือด้อยกว่าคนที่มีน้ำนมเยอะๆ เลยค่ะ ไม่ต้องรู้สึกไม่ดีใดๆ ทั้งสิ้น มาหาวิธีแก้ไขกันดีกว่าค่ะ
คุณแม่ทั้งหลายที่มีปัญหา ไม่ว่าจะ workshop หรือเมล์มาถามเฉยๆ ก็ตาม มีตั้งแต่ลูกเพิ่งคลอดได้ 1 อาทิตย์ไปจนเกือบขวบ ทุกท่านมักจะถามคำถามเดียวกันว่า “ยังทันมั้ย ยังอยากให้ลูกกินนมแม่เต็มที่ เป็นไปได้หรือเปล่า” คำตอบที่ให้กับทุกคนจะเหมือนกันคือ “ยังทัน และเป็นไปได้เสมอ ถ้าพยายามมากพอ” แล้วก็จะเล่าให้ทุกท่านฟังว่า ในต่างประเทศ คนที่เค้าไม่ได้คลอดลูกเอง คือ ไปรับเด็กจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาเป็นลูกบุญธรรม เค้ายังพยายามเลี้ยงลูกคนอื่นด้วยนมตนเอง ด้วยการกินยา และกระตุ้นร่างกายด้วยการให้ลูกดูด ร่วมกับการบีบหรือปั๊ม ซึ่งเป็นเรื่องที่แพร่หลายมาก (ลอง searh ใน google ด้วยคำว่า Adoptive Breastfeeding ก็จะเจอค่ะว่า มีเว็บเยอะแยะมากที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ เยอะกว่าข้อมูลเกี่ยวกับนมแม่ในเมืองไทยเสียอีก)
ดังนั้น ไม่ว่าลูกคุณจะอายุแค่ไหน ดูดนมแม่เป็นหรือไม่ ให้นมผสมเยอะแค่ไหน ไม่ได้ให้ลูกดูดมานานแค่ไหนแล้ว ก็สามารถกลับมาให้นมแม่ได้ทั้งนั้น แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับความอดทน และความพยายามของแต่ละคน ซึ่งยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง เช่น มีคนคอยสนับสนุนหรือไม่สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตเอื้อหรือเปล่า เป็นต้น
สำหรับกรณีที่แม่ขาดความมั่นใจนิดหน่อย ให้นมผสมลูกไปบ้าง แต่ให้นมแม่เยอะกว่า แบบนี้คุยกันไม่นาน ก็พอเข้าใจ แก้ไขได้ไม่ยาก แต่บางคนลูกสามเดือนแล้ว ไม่เคยดูดนมแม่เลย แต่อยากกลับมาให้นมแม่ จะทำยังไงดี แบบนี้คุยกันทางโทรศัพท์ไม่สำเร็จแน่ค่ะ เพราะปัญหามันยากกว่านั้น เริ่มจากต้องอุ้มลูกไปคลินิกนมแม่ หัดให้ลูกดูดนมแม่ใหม่ ไปครั้งเดียวก็คงไม่สำเร็จ ต้องไปบ่อยๆ คลินิกนมแม่บางครั้งก็ไม่พร้อมให้บริการ ต้องนัดต้องอะไรอีก ที่บ้านก็ต้องผจญกับปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ที่(มีแนวโน้ม) ว่าจะไม่เข้าใจอย่างยิ่งว่า ทำไมแม่ถึงจะต้องวุ่นวายใหญ่หลวงขนาดนั้น เพื่อจะให้ลูกกินนมตัวเอง ก็ในเมื่อกินนมผสมก็จ้ำม่ำน่ารักดีอยู่แล้ว นมแม่ก็ไม่เห็นมีตั้งแต่คลอดแล้วนี่ แล้วป่านนี้มันจะมีได้เรอะ ญาติฝ่ายแม่คงไม่เท่าไหร่ แม่จัดการได้อยู่แล้ว แต่ญาติฝ่ายพ่อสิ พ่อคุณจะช่วยสนับสนุนจัดการให้หรือเปล่า แม่บางคนก็เลี้ยงลูกสองคน อยู่บ้านคนเดียว คนโตก็ยังไม่เอาไม่อยู่ คนเล็กก็ร้องทั้งวัน งานบ้านก็ต้องทำ แค่ได้ยินก็พลอยเครียดไปด้วยแล้ว แบบนี้ฮอร์โมนแห่งความสุขที่จะช่วยผลิตน้ำนมมันคงไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นแน่ค่ะ
เมื่อก่อนเคยมีโอกาสเป็นครูสอนเด็กๆ อยู่สองสามปี ต้องคอยสอนพ่อแม่ว่า อย่าเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น พี่กับน้องยังไม่เหมือนกัน บางคนพัฒนาเร็ว บางคนพัฒนาช้า ต้องให้เวลา เด็กแต่ละคนเป็น Individual การเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนจิตใจตัวเองและลูกอีกด้วย
ทุกวันนี้ นั่งมองปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วก็เห็นเลยว่าในบางมุม ก็ไม่ต่างอะไรกันกับตอนที่เคยสอนเด็กๆ อยากให้แม่ทุกคน หยุดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เลิกรู้สึกผิดกับลูก หยุดตำหนิตัวเอง ไม่ต้องเสียใจว่าไม่มีนมพอให้ลูกกินกันดีกว่าค่ะ เพราะเราเชื่อว่า แม่ทุกคนรักลูก แล้วก็พยายามทำอย่างที่ดีที่สุดเพื่อลูกของตัวเองแล้ว ใครจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครรักลูกของเราได้มากกว่าเราอีกแล้ว
เพราะฉะนั้น อยากให้แม่ๆ ทุกท่าน ที่กำลังมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ค่อยๆ พิจารณาปัจจัยต่างๆ ในชีวิตของตนเองให้ดี แล้วดูว่าเราสามารถแก้ไขอะไรได้แค่ไหน แล้วก็พยายามทำเท่าที่จะทำได้ ถ้าความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนึ่ง มันกลับไปสร้างปัญหาอื่นที่หนักกว่า สุดท้ายตัวเราจะแย่เองค่ะ
ถ้าเราพยายามอีกนิดหน่อย แล้วสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ใช้นมผสมได้ ก็เดินหน้าเลยค่ะ แต่ถ้าเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิตมันไม่เอื้อที่จะให้ทำเช่นนั้น จะให้นมแม่ควบคู่กับนมผสมหรืออาหารเสริมก็ไม่เห็นแปลก แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่านมแม่จะหมดวันไหน ตราบใดที่ยังให้ลูกดูดไปเรื่อยๆ (แม้จะแค่วันละครั้งก็ตาม) ร่างกายเราก็ยังจะทำหน้าที่ผลิตน้ำนมไปเรื่อยๆ ดังนั้น แม่ที่ให้นมผสมร่วมกับนมแม่ ก็สามารถให้นมแม่กับลูกได้จนถึงสองปีเช่นกัน ภูมิคุ้มกันต่างๆ รวมทั้งสารอาหารที่เหมาะกับการพัฒนาสมองในนมแม่ก็ยังคงมีอยู่ในนมแม่นั่นเอง ไม่ว่าปริมาณของนมแม่จะมีแค่ไหน
หรือแย่ที่สุดเลย สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตทำให้ไม่สามารถให้นมแม่ได้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้สึกผิดค่ะ ไม่มีแม่คนไหนเอานมผสมให้ลูกกินเพราะไม่รักลูกนี่คะ แต่เพราะไม่เคยได้รับความรู้ที่ดีพอในการเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองต่างหาก ทำให้ต้องอาศัยนมผสม
แม่ที่เป็นเพื่อนรักคนหนึ่ง ต้องมีลูกถึงสามคน กว่าจะให้นมแม่ได้สำเร็จในคนที่สาม คนแรกแทบไม่ได้เลย คนที่สองได้บ้าง คนที่สามกว่าจะได้ ก็เกือบไม่รอดเหมือนกัน แล้วก็บ่นๆ ว่า รู้สึกผิด และสงสารลูกคนโต ที่แทบไม่ได้กินนมแม่เลย ในฐานะที่เราก็เป็นลูกคนโต กินนมแม่น้อยกว่าน้อง เราก็ไม่เคยรู้สึกเลยว่าแม่เรารักน้องมากกว่า แล้วก็ไม่เคยคิดว่าเป็นความผิดของแม่ที่ให้เรากินนมแม่น้อยกว่าน้อง เลยทำให้น้องเราฉลาดกว่า (ในบางเรื่อง ^-^) และเราก็เชื่อว่าลูกๆ ของพวกเราทุกคน เมื่อโตขึ้นและรู้ถึงความผิดพลาดของพวกเราที่ไม่สามารถเลี้ยงเขาด้วยนมเราได้เพราะอะไร ก็คงไม่ได้รักพวกเราน้อยลงเพราะเรื่องนี้หรอกค่ะ ยังไงๆ เราก็ต้องเป็นแม่ดีเด่นของลูกเราอยู่ดีนั่นแหละ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าลูกเรากินนมแม่ได้น้อยไป อย่าลืมไปแก้มือตอนเลี้ยงหลานก็แล้วกันค่ะ
*** แม่ต่ายอ่านบทความนี้แล้วโดนใจค่ะ เลยส่งเมล์บอกความในใจมา อ่านได้
ต้องการพูดคุย ติชม แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
|
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (48969) | |
รัก web นี้มากเพราะทำให้มีกำลังใจ จนตอนนี้น้องพอใจโตจากนมแม่อย่างเดียวมา11เดือนแล้ว ถึงแม้แม่จะไม่ได้มีนมมากเหมือนคนอื่น(บีบได้แค่วันละ5-6 oz ) ตัวเล็ก 7.3 kgแต่แข็งแรงและซนมากค่ะ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น แม่นกและน้องพอใจ (nokpeeraya-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-03-31 16:02:19 |
ความคิดเห็นที่ 2 (140176) | |
ควรเตรียมความพร้อมเพื่อจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากแม่ที่ผ่านประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนสำเร็จแล้วมาช่วยแนะนำ มาสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธา | |
ผู้แสดงความคิดเห็น แม่เป้ วันที่ตอบ 2010-07-14 19:40:13 |
[1] |