
ต้องการแต่ไม่อยากเป็น ![]()
สวัสดีค่ะ ทุกท่าน ดูเหมือนยิ่งนาน จะยิ่งยุ่ง เอาปากกามานั่งจดว่ายังมีรายการ สิ่งที่ต้องทำ อะไรอยู่อีกบ้าง ก็ปรากฎ ว่ายาวเหยียดเป็นหางว่าว แต่ละเรื่องก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ว่าจะจัดการได้ง่ายๆ เลยทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลเว็บนี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มีอีกหลายเรื่องที่อยากจะให้เป็นข้อมูลกับแม่ๆ ทั้งหลาย แต่เวลาจะเขียนอะไรสักเรื่อง เราก็ต้องหาข้อมูล ต้องอ่าน ต้องคิดประเด็น แล้วก็ต้อง built อารมณ์อีก ใช้เวลานานพอสมควรค่ะ เพราะไม่ใช่นักเขียนอาชีพ *-* จบเรื่องข้อแก้ตัวไว้ห้วนๆ แบบนั้นนะคะ วันนี้ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับ นมแม่ มาให้อ่านค่ะ มีแต่บทความที่บังเอิญไปอ่านเจอในมติชนสุดสัปดาห์ แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ คล้ายๆ จะโดนใจในบางอารมณ์ที่ได้รับ feedback จากผู้เยี่ยมชมเว็บบางท่าน เลยเอามาลงขัดตาทัพเล่นๆ ค่ะ ปิดท้ายด้วยการขออะไรสักอย่างจากคุณแม่ๆ ทั้งหลายที่แวะเวียนกันมาเยี่ยมชมที่แห่งนี้เพื่อเป็นการส่งความสุขให้คนทำเว็บในโอกาสปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้แล้วกันนะคะ อยากได้รูปของคุณแม่ คุณลูกทุกท่านค่ะ อารมณ์ไหน ก็รับทั้งนั้น จะเดี่ยว จะคู่ หรือหมู่ทั้งครอบครัวก็ได้ค่ะ คิดว่าปีใหม่นี้จะเปลี่ยน banner ด้านบนใหม่ฉลองศักราชเสียหน่อย ไม่อยากไป copy ลูกฝรั่งแล้วค่ะ อยากได้ของพวกเราบ้าง วันๆ นึงมีคนเข้าเว็บร้อยกว่าคน อย่าให้คนทำเสียกำลังใจนะคะ ช่วยส่งมาให้ชื่นใจหน่อยค่ะ ส่งมาได้ที่ breastfeedingthai@yahoo.com นะคะ ส่งมาคนละหลายๆ รูปก็ได้ค่ะ ต้องการแต่ไม่อยากเป็น จากคอลัมน์ เมนูข้อมูล โดย นายดาต้า ความเป็นจริงอย่างหนึ่งในสังคมไทยคือ แม้ภาพการใช้ชีวิตโดยทั่วไปของผุ้คน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จะถูกมองในทางที่ไร้สาระ ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม แต่ถึงเวลาที่จะต้องเลือกใครสักคนขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ คนที่กระแสส่ง หรือได้รับการสนับสนุนมักจะเป็นผู้ที่มีภาพเป็นคนดี เสียสละเพื่อส่วนรวม เหมือนกับว่าส่วนตัวจะใช้ชีวิตอย่างไรก้ตาม แต่การจะให้คุณค่ากับคนอื่น บ่อยครั้งที่แตกต่างกันสิ้นเชิงกับพฤติกรรมของคนคนนั้น ตรงนี้แหละที่เรียกว่ากระแส ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่ เมื่อขึ้นมาสู่อำนาจแล้วมักจะไม่ค่อยเข้าใจ ทำนองว่า ไม่เห็นจะเป็นคนดีสักเท่าไหร่ แต่ทำไมถึงได้ตั้งมาตรฐานคนที่ตัวจะสนับสนุนไว้สูงลิบ มีความพยายามอธิบายกันมาพอสมควรว่า ไฉนจึงเป็นฉะนี้ มีผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่ดูในรายละเอียดแล้ว พอที่จะนำมาตีความให้เป็นคำตอบได้ สถาบันรามจิตติ ที่มี ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นผู้อำนวยการ ได้สำรวจ “วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของเยาวชนในเรื่องชีวิตสาธารณะ” ไว้ เป็นการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการมีสำนึกสาธารณะ จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนทั้งสิ้น 3,065 คน ครอบคลุมระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ ผลที่ออกมาคือ เด็กร้อยละ 93.6 รู้สึกชื่นชมคนที่ทำงานสาธารณะ ร้อยละ 91.3 บอกว่ารู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้รับการช่วยเหลือจากใครสักคน สรุปว่าชอบคนที่ช่วยเหลือคนอื่น แต่พอมาถึงคำถามที่จะวัดว่าได้ช่วยเหลือใครบ้าง ร้อยละ 60.1 บอกว่ารู้สึกสงสารผู้ประสบภัย แต่ไม่เคยทำอะไรเพื่อช่วย ร้อยละ 41.9 บอกว่า ดูหนังดีกว่าไปเป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 40.2 บอกว่าตัวเองมีปัญหามากพอแล้ว ทำไมต้องไปช่วยคนอื่น เห็นอะไรไหม ตัวเองไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีความรู้สึกว่าคนอื่นจะต้องเป็นฝ่ายให้ตัว เพราะตัวมีปัญหาอยู่แล้ว สังคมที่ผู้คนคิดว่าตัวเองมีปัญหา คนอื่นมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ ได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็ก นี่เป็นข้อสรุปว่า แม้ตัวเองจะไม่ดี แต่คนอื่นต้องดี เมื่อนักการเมืองอาสาเข้ามาทำงานให้ประเทศ ความคาดหวังก็คือ คนคนนั้นจะต้องมาแก้ปัญหาให้ จิตใจของผู้คนที่คอยรับความช่วยเหลือ แต่ไม่คิดจะช่วยใครเกิดขึ้นแต่เด็กแล้ว บ่อยครั้งที่มีการพูดถึงข้อสรุปของผุ้ใหญ่ในบ้านเมืองคนหนึ่งว่า “เมืองไทยดีทุกอย่าง เสียดายก็แต่มีคนไทยอยู่” ฟังครั้งแรกไม่เข้าใจว่า ความอ่อนด้อยของคนไทยอยู่ตรงไหน แต่เมื่อเห็นผลสำรวจนี้ ความเข้าใจมีมากขึ้น กระแสเป็นเรื่องของความต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างที่ตัวคาดหวัง แต่ตัวเองจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะมาคาดหวัง ลองแบบนี้ ไม่ว่าใครที่มารับผิดชอบงานในด้านการพัฒนาสังคม มีแต่เหนื่อยกับเหนื่อย ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1365 วันที่ 13-19 ต.ค.49
|