
หย่านมแม่อย่างไรดี ![]()
คำถาม :
รบกวนขอปรึกษา ว่าจะหยุดนมแม่ด้วยวิธีใดดี เนื่องจากตอนนี้ลูกอายุ 2 ขวบ 4 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ยอมเลิกนมแม่ มีคนแนะนำให้ใช้บอระเพ็ดทาหัวนมเพื่อเวลาลูกดูดแล้วขมและจะเลิกไป แต่ตัวดิฉันเองรู้สึกสงสารลูกหากจะทำแบบนั้น อยากให้เขาเลิกด้วยความทรงจำที่ดี อีกไม่กี่เดือนลูกต้องเข้าเรียนเตรียมความพร้อมแล้ว จึงรู้สึกเป็นห่วงเขา อยากจะช่วยให้เขาเลิกนมแม่ได้อย่างมีความสุข รบกวนแนะนำด้วยค่ะ ต้องการคำแนะนำมากค่ะ
คุณแม่ลูกโอ๊ค
คำตอบ :
ที่คุณแม่คิดว่าอยากให้ลูกได้รับความทรงจำที่ดีในการเลิกนมแม่นี่นับว่าเป็นความคิดที่น่ารักมากๆ ค่ะ แต่จะทำยังไงนี่ คงจะแนะนำลำบาก เพราะแต่ละคนก็ต่างความคิด บางคนก็ให้หักดิบ บางคนก็ไม่อยากหักหาญน้ำใจลูก โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าแม่ลูกน่าจะตัดสินใจร่วมกันค่ะ
จะเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังดีกว่านะคะ ตอนที่ตั้งใจจะหย่านมลูกคนโตตอน 1 ขวบ 7 เดือนนั้น เวลานั้นไม่ได้มีข้อมูลมากมายเหมือนเวลานี้ พอมีคนทักว่าลูกโตแล้ว น่าจะเลิกนมแม่ได้แล้ว ก็คล้อยตามได้ไม่ยาก เพราะตอนนั้นก็รู้สึกแทบจะทนไม่ไหวแล้วที่ต้องตื่นทั้งคืนให้ลูกดูดนม แม่อยากจะนอนยาวๆ ทั้งคืนแล้วล่ะลูก พอตกลงว่าจะเลิกแล้ว ก็บอกลูกว่า "ไอโกะ...หม่าม้าเจ็บมากเลยนะ เวลาที่ไอโกะดูดนมหม่าม้าแบบนี้ ไอโกะโตแล้ว พอแล้วนะ คนที่โตๆ แล้ว ไม่มีใครเขาดูดนมแม่แล้วนะ" แล้วก็ยกตัวอย่างเด็กคนอื่นๆ ที่ลูกรู้จักว่าเค้าก็ไม่ดูดนมแม่แล้วเหมือนกัน
ใช้เวลาประมาณ 3 คืน ที่อุ้มลูกเพื่อกล่อมนอน จากที่เคยดูดนมแม่หลับ ก็เปลี่ยนเป็นอุ้มแทน ระหว่างที่อุ้ม ลูกก็จะบอกว่า "ไอโอะไม่ดูด หม่าม้าเจ็บ ไอโอะไม่ดูด หม่าม้าเจ็บ" น่าสงสารมาก เมื่อลองย้อนคิดถึงเวลานั้นแล้ว ก็เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเลยว่า ลูกอายุแค่นั้น เริ่มเรียนรู้ที่จะอดทนต่อความต้องการของตัวเอง เพราะรู้ว่าแม่เจ็บ สรุปว่าก็เลิกได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเย็นเหมือนที่ใครๆ คอยเตือนตั้งแต่แรกที่รู้ว่าเราตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานๆ
แล้วรู้ไหมคะว่า จริงๆ แล้ว พอลูกหย่านมแม่แล้วนั้น คนที่ทำใจลำบากกลับเป็นแม่เสียเองค่ะ เพราะแต่เดิมที่เคยคิดว่าเป็นภาระ ทำให้เราไม่ได้หลับไม่ได้นอนนั้นเป็นความรู้สึกเพียงด้านเดียว อีกด้านหนึ่งที่เราไม่ได้นึกถึง จนกระทั่งมันหายไปแล้วเราถึงจะรู้สึกโหยหา ก็คือ ความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ความรู้สึกผูกพัน ในขณะที่เห็นลูกนอนอยู่ในอ้อมอกของเราแล้วก็ดูดนมแม่อย่างมีความสุข ทั้งสายตา ทั้งรอยยิ้มที่ลูกมีให้ มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย จนเผลอบ่นกับพ่อของลูกอีกเป็นเดือนว่า อยากให้ลูกกลับมาดูดนมใหม่จังเลย ไม่น่ารีบหย่านมเลย
ลูกวัยสองขวบกว่าแล้ว น่าจะพอมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ พอสมควรแล้ว ลองอธิบายด้วยเหตุผล ลูกน่าจะยอมรับฟังได้ไม่ยาก เว้นเสียแต่ว่าลูกถูกเลี้ยงมาด ้วยการตามใจในทุกๆ เรื่อง แบบนั้น อาจจะลำบากหน่อยค่ะ
การหย่านมแม่ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งในชีวิต ที่เด็กแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ ในฐานะแม่ เราก็คงต้องพยายามให้ลูกผ่านจังหวะชีวิตช่วงนี้ไปให้ได้ในที่สุด เพราะลูกก็ต้องเติบโตไปสู่ความเป็นอิสระจากเรา และเป็นตัวของตัวเองในที่สุด
ขอให้ประสบความเร็จในการหย่านมลูกด้วยดีนะคะ
webmother@breastfeedingthai.com |