
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว: ความเชื่อหรือคลื่นกระแสนิยม? ภาณี วงษ์เอก 1
นักวิทยาศาสตร์ นิยามคำว่า มนุษย์คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นมแม่เป็นอาหารที่ถูกนำไปใช้เลี้ยงทารกตามความเชื่อทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น พุทธศาสนา เชื่อว่าทารกแรกเกิดมีพฤติกรรมบางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่มีการดัดแปลง หรือเรียนรู้มาก่อน เช่น การใช้ปากดูด การกระพริบตา การหัวเราะ การร้องไห้ และการหันศรีษะ เป็นต้น เมื่อศตวรรษ ที่ 6 ก่อนคริสตกาล ชาวอิสราเอล เชื่อว่าควรให้ทารกแรกเกิดดูดนมจากเต้าก่อนที่จะตัดสายสะดือหรืออย่างช้าภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนศาสนาอิสลาม ในคัมภีร์กุรอ่านแนะนำให้ลูกดูดนมจากเต้าเป็นเวลา 2 ปีเต็ม เมื่อ1550 ก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ มีบันทึกไว้ในตำรากุมารเวชศาสตร์ ทำด้วยเยื่อไม้ปาปิรุส เพื่อมีน้ำนมสำหรับลูกดูด จะต้องทำให้กระดูกแม่อบอุ่นด้วยอาหารปลาในน้ำมัน พร้อมถูนวดด้วยน้ำมันที่หลังด้วย ชาวอินเดีย มีพีธีวันให้นมลูกจากแม่นม โดยแม่นมจะต้องไม่สาวหรือแก่เกิน (ประสงค์ ตู้จินดา 2536) ในช่วงคริสศตวรรษที่ 19-20 (ค.ศ. 1850-1930) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง และอาศัยอยู่อย่างแออัดอยู่ในสังคมเมือง ส่งผลให้ให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มทารก ในช่วง ค.ศ. 1860-1861 พบว่าอัตราตายทารกสูงมากในยุโรป (สวีเดน 141:1000 สก๊อตแลนด์ 149:1000 อังกฤษ170:1000 และฝรั่งเศส 223:1000) ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องหายุทธวิธีในการลดอัตราตายทารก เช่น การจัดหาสถานเลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ออกกฎหมายห้ามส่งเด็กกลับไปชนบทเพื่อให้แม่นมเลี้ยง (แพร่หลายในกลุ่มผู้มีฐานะดีเป็นการลดภาระแม่) ตั้งคลีนิคชั่งน้ำหนักเด็ก และตรวจสุขภาพเด็ก พร้อมให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการ แนะนำให้ฆ่าเชื้อในนมก่อนการบริโภค ต่อมาการอยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สะดวก จึงมีการตั้ง สถานที่เก็บนมแม่ หรือ ธนาคารนมแม่ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการคิดค้นนมผสมเลี้ยงทารก ทำให้ธนาคารนมแม่ได้รับความนิยมน้อยลง ขณะเดียวกันมีการศึกษาวิจัยพบว่านมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงและยังมีประโยชน์อื่นๆอีกมากต่อมารดาและทารก ทำให้กระแสความนิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับคืนมาใหม่ และเมื่อมีการวิจัยพบว่าเชื้อโรคบางอย่างสามารถผ่านทางน้ำนมแม่ได้ เช่น เชื้อเอชไอวี และเชื้อ Hepatitis ธนาคารนมแม่จึงสลายไปในที่สุด ต่อมาใน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) องค์การอนามัยโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกราว 150 ประเทศ และองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ยอมรับกติกาและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการโฆษณา และจำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) โดยเสนอแนะผ่านกระทรวงสาธารณสุขของนานาประเทศเพื่อถือปฏิบัติ กติกาและหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญในการยับยั้งการโฆษณาอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้นานาประเทศจัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นช่วงเวลาเกือบทศวรรษแล้ว ที่มีผลการวิจัยออกมายืนยันอย่างต่อเนื่องถึงประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังคลอดจนถึง 6 เดือน ว่ามีประสิทธิผลถึง ร้อยละ 98 โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ แม่จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอย่างอื่น เนื่องจากการดูดนมของทารกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้แม่ไม่มีไข่ตก ซึ่งทำให้แม่ยังไม่มีประจำเดือนหลังคลอด จากผลการศึกษาเหล่านี้นำมาสู่การประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ที่เมืองเบลลาจิโอ ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1988 โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันนำมาสู่นโนบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพื่อการคุมกำเนิด (ชั่วคราว) แบบธรรมชาติ (Trussell and Santow; Rejoinder Kennedy et al; Labbok ,1991) วาระสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 1990 เมื่อองค์การอนามัยโลก และองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมมือกันรับรองประกาศ The Innocenti declaration เพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาระสำคัญของประกาศนี้เรียกร้องให้ทุกๆประเทศพัฒนานโยบายระดับชาติเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กำหนดเป้าหมายอย่างเหมาะสม และจัดวางระบบการติดตามและผลการปฏิบัติงานอย่างมีระบบ พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัด เช่น อัตราทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเมื่อออกจากโรงพยาบาล ผลจากการทำงานต่อเนื่องของทั้งสององค์กร ใน ค.ศ. 1991 เริ่มมีการดำเนินโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก (The Baby-friendly Hospital Initiative) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าหน่วยงานที่ต้องดูแลแม่และเด็กทุกๆ แห่งได้ดำเนินงานสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มโครงการมามีโรงพยาบาลมากกว่า 15,000 แห่ง จาก 134 ประเทศ ที่ได้รับรางวัลในการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก และในหลายประเทศที่ทางโรงพยาบาลได้รับเกียรติบัตรดังกล่าว เพื่อเป็นเกียรติแก่โรงพยาบาลที่มีแม่จำนวนมากเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเด็กมีสุขภาพดีขึ้นด้วย (http//www.unicef.org/media/media_27854.html) สำหรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ WHO และ UNICEF ได้ตอบสนองนโยบายและรับหลักการที่ได้รับการยืนยันในที่ประชุมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้กำหนดให้ เรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นงานสำคัญลำดับต้น ในแผนนโยบายสาธารณสุข อาหารและโภชนาการ แห่งชาติ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (2520-2524) ดังนั้น ใน พ.ศ. 2525 ได้มีคณะแพทย์ (3 คน)และพยาบาลชุดแรกของไทย (1 คน) จากคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล ได้เดินทางไปเข้ารับอบรมหลักสูตร การศึกษาการจัดการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (The Lactation Management Education Programme) ที่ Wellstart เมือง Sandiego สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและชำนาญการในเรื่องดังกล่าว หลังจากได้รับการอบรมมาคณะแพทย์ และพยาบาลชุดนี้ ได้จัดการอบรมหลักสูตรดังกล่าวให้กับคณะแพทย์ และพยาบาล จากโรงพยาบาล 9 แห่งในกรุงเทพฯ ต่อมามีหลายหน่วยงานให้ความสนใจ และกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาลจึงได้ร่วมมือกันจัดการอบรมในระดับภาคทั่วประเทศ มีจำนวน 250 โรงพยาบาลส่งผู้เข้ารับการอบรม เมื่อบุคลากรได้รับการอบรมและพร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการ การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (พ.ศ. 2525-2529) เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน พร้อมกับการยกร่างกฎหมายและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการโฆษณา และจำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และได้นำมาประกาศใช้ใน พ.ศ. 2527 การรณรงค์อย่างเดียวอาจช่วยในการเพิ่มพูนความรู้ ให้กับแม่ แต่ไม่สามารถช่วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแม่ได้ ยกเว้นจะมีมาตรการอื่นๆ ทางสังคมมาสนับสนุน เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน หรือมีมาตรการบังคับใช้กฏหมายและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการโฆษณาฯ ให้เข้มงวดขึ้น (Vong-ek ,2000) แม้นานาประเทศได้ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมาเกือบสองทศวรรษ แต่การเพิ่มอัตราทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้นานถึง 4 เดือนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (UNICEF,2005) เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้แม่ไม่มีเวลาที่จะอยู่เพื่อเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับกฎหมายการลาคลอดใน 145 ประเทศ ให้สิทธิมารดาลาคลอดเพียง 12-14 สัปดาห์ (Esterisk and Menon ,1996) ดังนั้น วาระสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กระแสโลกเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมชุมชน การแสวง หาความร่วมมือจากเอกชน ประชาคม พันธมิตร และเครือข่ายต่างๆ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก็เป็นหนึ่งในกระแสนิยมที่เข้าไปอยู่ในพลวัตของการสร้างเสริมสุขภาพ ในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ให้ทุนสนับสนุน ในการจัดตั้งศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยมี กลุ่มนมแม่ ซึ่งเกิดจากพลังรักของคุณแม่อาสาที่เห็นคุณค่าของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และต้องการส่งเสริมให้เด็กไทยได้รับคุณค่าสูงสุดจากน้ำนมแม่ โดยมีกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้การสนับสนุน (สายธารรัก, 2548) ศูนย์นี้ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีประสบการณ์ตรงในการให้คำปรึกษาปัญหาแก่กันและกัน ที่สำคัญที่สุด คือ คุณพ่อได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนี้ด้วย จากที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น การขับเคลื่อนกระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ด้วยการรณรงค์ หรือชี้ให้เห็นประโยชน์เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่จะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ และเหนียวแน่น และต้องการการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน พร้อมกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและความเป็นจริง จึงจะทำให้มีกระแสแรงพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกลุ่มแม่ อาจมีผู้โต้แย้งว่ากระแสนิยมนี้ เป็นของพ่อและแม่ที่เป็น คนเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรัก ความผูกพันของพ่อและแม่มีอยู่ใน มนุษย์ ไม่ว่า หญิง หรือ ชาย ชนบท หรือ เมือง จน หรือ รวย ผิวดำ หรือ ผิวขาว ตะวันออก หรือตะวันตก กำลังพัฒนา หรือ พัฒนาแล้ว และความเชื่อตามวัฒนธรรม เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อตามวัฒนธรรม หรือกระแสนิยม ต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ความต้องการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้สูงที่สุด เพราะเห็นว่านมแม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งมารดาและทารก ดังนั้นทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น และเข้มแข็ง ในการขับเคลื่อนคลื่นลูกนี้ต่อไปเพื่อความมีสุขภาพดี ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม จิตวิญญาณ ของประชากรโลกตัวน้อยๆ โดยไม่ทำให้เขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยและความตายตั้งแต่ยังเล็กๆ เอกสารอ้างอิง ประสงค์ ตู้จินดา. 2536. วิวัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และปัจจัยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. 1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มา : http://www.ipsr.mahidol.ac.th/content/home/ConferenceII/Article/Article16.htm |