
โรงพยาบาลสนับสนุนนมแม่ สวัสดีค่ะ เผลอแป๊บเดียว ถึงวันแม่อีกแล้ว เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่เคยเป็นแม่ มักจะได้ยินคำพูดทำนองว่า "คนที่ไม่เคยมีลูก ไม่มีทางรู้หรอกว่าแม่น่ะรักลูกขนาดไหน พอมีลูกแล้วก็จะรู้สึกรักแม่มากขึ้น" เวลานั้นก็นึกสงสัยว่า เราก็รักแม่มากที่สุดอยู่แล้ว เราจะมีลูกหรือไม่มีลูกก็ไม่น่าจะทำให้ความรักที่เรามีต่อแม่เปลี่ยนแปลง แต่พอได้เป็นแม่จริงๆ แล้ว ถึงเริ่มเข้าใจความรู้สึกรักลูกของคนที่เป็นแม่ แล้วก็รู้ว่าที่เราคิดว่ารักแม่มากน่ะ ไม่เท่าที่แม่รักเราจริงๆ พอถึงช่วงใกล้ๆ วันแม่ ก็จะได้ยินเพลงค่าน้ำนม บ่อยเป็นพิเศษ คิดว่าคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองทุกคน คงจะเข้าใจถึงอารมณ์ของเพลงนี้ได้มากกว่าใคร ยิ่งคนที่ผ่านความยากเย็นแสนเข็ญสารพัดมาได้ ก็คงจะยิ่งรู้สึกซาบซึ้งเป็นพิเศษ ความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่และลูกที่เกิดขึ้นเวลาที่ให้ลูกดูดนมนั้น เป็นความผูกพันชนิดที่ฝรั่งเรียกว่า last for a life time คนเป็นแม่ทุกคนควรจะได้มีโอกาสสร้างความผูกพันที่แข็งแรงยาวนานชั่วชีวิตแบบนี้กับลูกของตนเอง เวลาที่มีโอกาสได้เห็นแม่ให้ลูกดูดนมที่ไหน (ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก) จะรู้สึกดีใจและสุขใจกับทั้งแม่และลูกคู่นั้นทุกครั้ง แล้วก็อยากให้เป็นภาพที่เห็นบ่อยๆ เห็นได้ทุกวันทั่วไป ประเทศไทยกำหนดให้ "เรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่" เป็นงานสำคัญลำดับต้น ในแผนนโยบายสาธารณสุข อาหารและโภชนาการ แห่งชาติ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (2520-2524) และเริ่มมีการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจังมาตั้งแต่พ.ศ. 2525 ผ่านมา 25 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545-2549) ตั้งเป้าไว้ว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวภายในหกเดือนแรก ควรจะได้ 30% แต่จากผลสำรวจในปี 2546 อัตราเด็กที่ได้กินนมแม่นาน 4 เดือนมีแค่ 13.8% ปีที่ผ่านมารู้สึกว่ามีการรณรงค์กันมากกว่าเดิม ไม่รู้ว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นแค่ไหน อย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือ แพ้นมผสมหลุดลุ่ยอยู่แล้ว ตัวเลขสถิติที่มีประโยชน์แบบนี้ บ้านเราหาได้ยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ ค่ะ พยายามหาข้อมูลเท่าไหร่ก็หาไม่ค่อยได้ ความจริงสำนักโพลล์ทั้งหลายน่าจะมาช่วยกันสำรวจตัวเลขเรื่องนมแม่ แล้วเผยแพร่มากๆ สังคมจะได้ตระหนัก แล้วก็ตื่นตัวกันมากกว่านี้ แทนที่จะไปสำรวจเรื่องเอาใครไม่เอาใคร แล้วก็แหย่ให้คนทะเลาะกันทุกวันแบบนี้ ก่อนจะพาดพิงไปไกลกว่านี้ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้แม่ส่วนใหญ่ล้มเหลวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่านมแม่ดีที่สุด และตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันทุกคน ก็เพราะแม่ทั้งหลายไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ในการเตรียมตัว และเตรียมพร้อมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขที่ถูกต้องและถูกวิธี ทำให้ล้มเหลวในที่สุด วัตถุประสงค์ในการทำเว็บนี้ก็เพราะต้องการให้แม่ทุกคน มีความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะส่วนใหญ่มีปัญหาแล้วค่อยมาหาข้อมูล บางคนมาเร็ว ก็ช่วยได้เยอะ บางคนมาช้า สามสี่เดือนไปแล้ว บางทีเกือบขวบก็มี ก็ช่วยได้น้อย แต่ก็ดีคือ ทำให้มีคนรู้และบอกต่อกันมากขึ้น ช่วยกันแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความรู้เรื่องนี้แพร่กระจายไปได้มากขึ้น การจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าโรงพยาบาลมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน บุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาลจะต้องมีความรู้ที่จะให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง การจะให้นมผสมกับทารกจะต้องมีเหตุผลทางการแพทย์บ่งชี้ว่าจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ให้กันง่ายๆ เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ WHO และ UNICEF เริ่มมีการดำเนินโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก (The Baby-friendly Hospital) ตั้งแต่ปี 1991 เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจะเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกได้นั้น ก็จะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้ ซึ่งในบ้านเรานั้น โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองว่าเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐบาล โรงพยาบาลของเอกชนอาจจะมีบ้างแต่คงน้อยมาก เพราะโรงพยาบาลเอกชนตั้งขึ้นเพื่อธุรกิจและผลกำไร ส่วนใหญ่เห็นแจกนมผสมกันทั้งนั้น กลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงเว็บของเราส่วนใหญ่ พบว่าเป็นแม่ที่คลอดในโรงพยาบาลเอกชนเกือบทั้งนั้น แล้วก็มีปัญหาเหมือนๆ กัน คือ ได้รับคำแนะนำผิดๆ จากบุคลากรในโรงพยาบาล คำแนะนำยอดนิยมแบบผิดมหันต์เลยก็คือ นมยังไม่มา ต้องให้นมผสมช่วยก่อนนะคะ จริงๆ ก็ไม่อยากตำหนิพยาบาล เพราะก็คงแนะนำไปด้วยความไม่รู้นั่นเอง การเป็นแพทย์หรือพยาบาลไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีความรู้เรื่องนมแม่เป็นอย่างดี รู้ว่านมแม่น่ะดีแน่ แต่ไม่รู้ว่าทำยังไงแม่ถึงจะมีนม พยาบาลที่จะต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองนั้น จะต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกอบรมพิ่มเติมโดยเฉพาะ รู้สึกว่าทางโรงพยาบาลศิริราช จะมีศูนย์ฝึกอบรมนี้อยู่ ซึ่งคงจะจัดขึ้นเป็นประจำ ความจริงถ้าโรงพยาบาลเอกชนรายใด สนใจที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะส่งพยาบาลที่ต้องรับผิดชอบไปอบรม แต่ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะสนับสนุนแค่คำพูด แต่ในทางปฏิบัติน่ะไม่ใช่ เท่าที่ได้รับฟังมา โรงพยาบาลเอกชนที่สนับสนุนเรื่องนมแม่อย่างจริงจัง และมีอัตราการความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สูงมากในเวลานี้ คือ โรงพยาบาล BNH ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ถ้าแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นเหตุ คือ ตั้งแต่แรกคลอด หากแม่ได้รับความช่วยเหลือและแนะนำที่ถูกต้องแล้วล่ะก็ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำกันไม่สำเร็จ เมื่อปีก่อน เคยเขียนให้ช่วยกันกระตุ้นให้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหลายเปลี่ยนนโยบายในการสนับสนุนนมแม่ให้มากว่านี้ (อ่านได้ ที่นี่ ค่ะ) แต่ส่วนใหญ่คงจะอ่านกันขำๆ ไม่มีใครทำจริงๆ ปีนี้ขอลองใหม่นะคะ คงต้องยืมชื่อบล็อกของคุณนิจวรรณมาประกอบ If we don't care, who will? ถ้าคิดว่าไม่ใช่ธุระของเรา แล้วจะเป็นธุระของใคร บ้านเราที่มีปัญหากันวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมีแต่คนที่คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม ทุกคนต่างเรียกร้องต้องการโน่นต้องการนี่ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าแล้วเราทำอะไรบ้างที่สมควรจะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกร้องต้องการ เดี๋ยวจะดุเดือดเกินบรรยากาศวันแม่มากเกินไป ปีที่แล้วคุณผู้อ่านทั้งหลายอ่านแล้วคงได้แต่นึกขำ ทำไม่ได้ ปีนี้ไม่ยากค่ะ ขอความร่วมมือร่วมใจจากคุณแม่ทุกท่าน (ขอร้องว่าทุกท่านนะคะ) ช่วยกันทำ แบบสอบถามนี้ เพื่อประเมินว่าโรงพยาบาล ที่เราไปคลอดมา ให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แค่ไหน อย่างไร ผลการประเมินทั้งหมด จะได้รับการเผยแพร่ลงในเว็บประกาศให้ทุกท่านได้รับรู้และรับทราบ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และกำลังเลือกว่าจะไปคลอดที่ไหนดี จะได้รู้ว่าควรจะเปลี่ยนใจหรือไม่ หรือจะต้องเตรียมตัวเพิ่มเติมอย่างไร หากต้องไปเจอพยาบาลที่คอยแต่จะป้อนนมผสม ถึงจะไม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลการประเมินจะแสดงออกมาเป็นคะแนนเรียงตามลำดับ update เรื่อยๆ ค่ะ และถ้าเป็นไปได้จะส่งให้โรงพยาบาลทั้งหลายได้รับรู้คะแนนของตัวเองด้วย ถ้าโรงพยาบาลไหนมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ก็ควรจะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ถ้าศิริราชทำได้ BNH ทำได้ ทุกๆ โรงพยาบาลก็ต้องทำได้เช่นกัน webmother@breastfeedingthai.com Click ! ที่นี่ เพื่อทำแบบสอบถาม
> |