
นมแม่ในโรงงาน โดย คุณอนุรักษ์ นภาวรรณ*เมื่ออาทิตย์ก่อนผมจะขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพ เจอผู้ใหญ่หลายท่าน ทักทายกันเป็นปกติว่าจะไปประชุมหรือ พอผมตอบว่าไปสัมมนาเรื่องน้ำนมแม่ ก็เลยอาจจะสร้างความสงสัยให้กับหลายท่าน ว่าผมไปเกี่ยวอะไรกับเขาซะทุกเรื่อง ผมไปร่วมประชุมและเป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 1 จัดโดยกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเสด็จเป็นประธานเปิดงาน หัวข้อที่ผมต้องพูดก็คือ การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในสถานประกอบการ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นหมอและเจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขเกือบพันคน ที่เขาให้ไปพูดก็เพราะที่โรงงานของผมถูกเลือกเป็นตัวอย่างในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการจัดตั้ง มุมนมแม่ เพื่อเป็นสถานที่ให้พนักงานที่ลาคลอดกลับมาแล้วบีบน้ำนมเก็บตุนไว้ให้ลูกที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ได้เข้ามาดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ให้พนักงานมีความรู้และตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยบูรณาการส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน มีการอบรม ตั้งชมรมต่าง ๆ ในเรื่องสุขภาพและชมรมกีฬา ส่งเสริมให้พนักงานยืดเหยียดกายบริหารในตอนเช้า เต้นแอโรบิกในตอนเย็น แปรงฟันหลังอาหารในตอนเที่ยง เป็นต้น และล่าสุดก็เป็นเรื่องมุมนมแม่ ซึ่งก่อนหน้านี้สาธารณสุขจังหวัดลำปางก็ได้เข้ามาส่งเสริมในหลาย ๆ เรื่อง เช่น สถานที่ทำงานน่าอยู่ระดับทอง คือ สะอาด ปลอดภัย ไร้มลพิษ มีชีวิตชีวา และ Green food good taste ในโรงอาหาร เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ ที่โรงงานของผมมีผู้หญิงทำงานอยู่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่กำลังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ นอกจากจะผลิตเซรามิกแล้วที่โรงงานยังมีผลผลิตเป็นลูกของแม่อีกปีละประมาณ 30 คน ซึ่งถ้านับรวมทั้งจังหวัดลำปางแล้วก็จะมีแม่ของเด็กที่อยู่ในโรงงานให้กำเนิดเด็กทั้งสิ้นปีละประมาณ 1,000 คน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่แม่ของเด็กเหล่านี้หมดโอกาสที่จะได้ให้นมแม่แก่ลูกเมื่อกลับเข้ามาทำงาน ในโรงงานหลังจากลาคลอดไปแล้ว 3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านไปให้นมลูก หรือนำเด็กมาที่โรงงานได้ และก็ยังไม่รู้วิธีในการบีบเก็บน้ำนม ไม่รู้คุณค่าของน้ำนมแม่ เอานมชงให้ลูกแทน ตลอดจนโรงงาน ต่าง ๆ ก็ยังไม่ตระหนักในประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เห็นเป็นเรื่องเสียเวลาทำงานและยุ่งยากใน เชิงปฏิบัติ นมแม่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมาก หญิงทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากไม่ละเลยสิทธินี้ แม่จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ลูกก็จะแข็งแรง ฉลาดทั้งทางปัญญาและอารมณ์ เด็กที่กินนมแม่ มักไม่ค่อยป่วยบ่อยและไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้ จากผลการศึกษาพบว่าเด็กที่กินนมแม่ มีโอกาสป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสมประมาณ 2-7 เท่า ลดโอกาสการเกิดโรคลำไส้อักเสบในทารกถึง 20 เท่า ท้องเสียน้อยกว่า 4 เท่า คือ ปกติทารกใน 4 เดือนแรกที่ได้รับนมผสม หรือนมผสมร่วมกับอาหารอื่น ๆ มีปัญหาท้องเสียมากถึง 15 % แต่ถ้ากินนมแม่อย่างเดียวจะมีปัญหาท้องเสียเพียง 5 % และถ้ากินแต่นมแม่ อย่างเดียวไม่กินน้ำเลยพบว่ามีอาการท้องเสียลดลงเหลือเพียง 1 % เท่านั้น นอกจากนี้โรคอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิดก็ลดลงเช่นเดียวกัน ในประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาติดตามเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนโต 3,000 คน พบว่าถ้าให้เด็กกินนมแม่นาน 9 เดือน เด็กจะมีเชาว์ปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 104 ดีกว่ากลุ่มที่ให้นมแม่น้อยกว่า 1 เดือน ซึ่งมีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ที่ 99.4 ผมได้รับความรู้ใหม่อีกหลายอย่าง (จนอยากจะกลับไปเลี้ยงลูกใหม่อีกครั้งถ้าย้อนเวลากลับไปได้) เช่น ควรจะให้นมแม่แก่ลูกไปจนครบ 1 ขวบ หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกควรจะให้นมแม่ อย่างเดียว (Exclusive) โดยไม่ให้อาหารเสริมอะไรเลยแม้แต่น้ำ ยกเว้นแม่มีปัญหาเรื่องน้ำนมไม่พอจริง ๆ คำถามว่าผู้ประกอบการโรงงานจะได้อะไรกับโครงการนี้ ถ้ารู้ถึงประโยชน์ของนมแม่แล้วก็คงจะ คาดหวังได้ว่า คุณแม่จะลางานลดน้อยลงเนื่องจากไม่ต้องลาไปดูแลลูกที่ป่วย หรือพาลูกไปหาหมอ (3 อันดับแรกของการลากิจของพนักงานต่างจังหวัดก็คือ หยุดทำนา ลาลูกป่วย ช่วยงานบุญงานศพ) ความเป็นห่วง ความกังวลใจของพนักงานก็จะลดลง มีสมาธิและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานก็จะดีขึ้น ผู้ประกอบการรวมถึงบริษัทก็จะได้ภาพลักษณ์ที่ดี คือ คิดถึงเรื่องคน เรื่องสังคมด้วย ไม่ใช่เรื่องกำไรอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องการจัดมุมนมแม่ให้กับพนักงานนี้ไม่ได้มีการลงทุนที่มากมายอะไร เรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการนี้มีมานานแล้วในต่างประเทศ จึงสามารถยืนยันประโยชน์มากมายที่ได้รับทั้งกับลูกจ้างและนายจ้าง ผมได้ข้อมูลจาก พ.ญ.กรรณิการ์ บางสายน้อย ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า จากโครงการนี้นายจ้างและลูกจ้างสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ประหยัดเงินได้ถึง 3 ดอลลาร์ในทุก 1 ดอลลาร์ที่ลงทุน ลูกที่กินนมแม่ไม่ค่อยป่วยทำให้ลดการลางานของพนักงาน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 400 ดอลลาร์ต่อเด็ก 1 คนต่อปี เพราะนอกจากพนักงานจะลาน้อยลงแล้วยังมี ขวัญกำลังใจที่ดี ผลผลิตก็ดีขึ้นด้วย
ถึงตอนนี้ ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่ว่าผู้ประกอบการต้องทำอย่างไรบ้างที่จะสนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดขึ้นในโรงงานได้ มีอยู่ 4 เรื่องเท่านั้นครับ เรื่องแรก ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ ถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐโดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ จะต้องเข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจกับ ผู้ประกอบการ แนะนำวิธีการและปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการ ข้อนี้สำคัญเพราะถ้าผู้บริหารไม่เปิดใจแล้วโครงการก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องที่สอง ต้องให้ความรู้กับพนักงานทุกคนในสถานประกอบการ พนักงานที่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับ การอบรมถึงประโยชน์ของนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิธีการบีบน้ำนม ได้รับเอกสารวิธีการโดยละเอียดและนำไปบอกคนในครอบครัวด้วย เพราะคนรุ่นปู่ย่าตายายอาจเลี้ยงลูกมาในอดีตไม่เหมือนกัน โดยมีจำนวนมากที่ให้อาหารเสริมก่อนกำหนด 6 เดือน หรือคิดว่านมชงมีประโยชน์มากกว่าตามแรงโฆษณาของสื่อต่าง ๆ พนักงานคนอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายก็ต้องได้รับความรู้ ความเข้าใจ เพราะต้องทำงานร่วมกัน บางคนอาจต้องรับภาระหน้าที่การงานแทน หรือมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่บางอย่าง ทีมงานฝ่ายบุคคล หรือพยาบาลประจำบริษัทฯ ต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีที่จะอบรมดูแล แก้ไขปัญหา จัดการในเรื่องต่าง ๆ ให้กับพนักงานที่ มาใช้บริการ เรื่องที่สาม จัดสถานที่สำหรับให้แม่บีบน้ำนมเก็บให้ลูกตามจุดต่าง ๆ ที่เหมาะสม มีเก้าอี้นั่งสบาย อ่างล้างมือ ตู้เย็นสำหรับแช่เก็บน้ำนมซึ่งแม่จะนำกลับไปหลังจากเลิกงาน อาจมีเครื่องปั๊มน้ำนมไว้ด้วย มีนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ แน่นอนว่าห้องน้ำ หรือห้องส้วมไม่เหมาะกับการนี้แน่นอนเพราะไม่ถูกสุขลักษณะ คงน่าเห็นใจแม่ที่จะต้องบีบน้ำนมให้ลูกในห้องน้ำรวมของโรงงาน สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีอาจทำให้คุณแม่มือใหม่ล้มเหลวในการบีบน้ำนมให้ลูก เรื่องสุดท้าย ให้เวลากับพนักงานในการบีบน้ำนม ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาบีบเก็บประมาณ 20 นาที 3 ครั้ง ใน 8 ชั่วโมงการทำงาน ซึ่งอาจจะตรงกับเวลาพักของพนักงานอยู่แล้วบ้าง และหลังจาก 6 เดือนไปแล้วการบีบน้ำนมก็จะลดลง สำหรับเวลาที่เสียไปกับการบีบน้ำนมนั้นพนักงานก็จะมีความเกรงใจเพื่อนร่วมงาน หรือนายจ้างอยู่แล้ว โดยทั่วไปก็จะไม่ให้เสียงานที่ปฏิบัติอยู่โดยรีบทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนายจ้างก็คิดเสียว่าพนักงานส่วนใหญ่ก็มีลูกไม่เกิน 2 คน ถ้าเกิดความภักดีทำงานต่อไปอีกนาน การเสียเวลาเพียงเล็กน้อยคงจะไม่มีผลต่อโรงงานมากนัก อย่างที่ผมได้เรียนไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากและลงทุนน้อย แต่เป็นสวัสดิการที่ น่าสนใจและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานประกอบการ ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานเคยส่งเสริมให้มีสถานเลี้ยง เด็กเล็กในโรงงานเพื่อให้แม่สามารถให้นมลูก ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น และลดภาระค่าจ้างเลี้ยงดูค่านมลูก แต่โครงการดังกล่าวโรงงานต้องใช้งบประมาณสูงที่จะจัดการได้ จึงเป็นสวัสดิการที่ยากที่จะเกิดขึ้น (เห็นมีแต่โรงงานแสงอรุณเซรามิกที่เดียวที่จัดสวัสดิการเลี้ยงเด็กเล็กให้กับพนักงานมาหลายปีแล้ว) การจัดมุมนมแม่ในโรงงานจึงเป็นสวัสดิการทางเลือกที่น่าสนใจในขณะนี้ ยังมีอีกสองประเด็น แถมท้ายจากการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติที่ผมได้ไปเข้าร่วมมาเมื่อเดือนก่อน ประเด็นแรก จะมีการควบคุมด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร สำหรับการโฆษณานมผงตาม สื่อต่าง ๆ ตลอดจนการลดแลกแจกแถมนมผงในโรงพยาบาล หรือคลินิกต่าง ๆ ประเด็นที่สอง สิทธิการลาคลอดของลูกจ้างเพียง 90 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของไทย นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดถึง 4 เดือน หรือมากกว่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้สิทธิลาคลอดเพิ่มอีก 30 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือหากสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาค่าชดเชยให้ เพิ่มอีก 30 วัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างไม่น้อย ไหน ๆ ปีนี้ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในการคลอดและค่าเลี้ยงดูบุตรรายเดือนเพิ่มมาให้แล้ว ที่เขียนเรื่องนมแม่ในโรงงานมาตั้งแต่ต้น ขอสรุปด้วยบรรทัดสุดท้ายว่า If we believe breastmilk and breastfeeding are important, it is possible to find a way. ถ้าเราเชื่อว่าน้ำนมแม่ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญ ก็จะมีทางที่เป็นไปได้เสมอ. ที่มา : รอบรั้วโรงงาน ฉบับเดือน มกราคม 2549
|