
เด็กไทยกับวัคซีน 1 ชีวิต 33 เข็ม มากมั้ย ? ![]() “หมอเด็ก...เกรงพ่อแม่บ้าจี้! ให้ลูกฉีดวัคซีนตามโฆษณา เด็กแรกเกิดถึง 15 ปีต้องทุกข์หนัก...ฉีดวัคซีนมากขึ้น ที่สำคัญต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เกินความจำเป็น” นี่คือ...ผลพวงจากการสื่อสาร และการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ของผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับเด็ก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ย้ำว่า หากผู้ปกครองให้เด็กได้รับวัคซีนตามที่มีการสื่อสารการตลาด จะทำให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีน 33 เข็ม โดยทั่วไป เด็กจะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐ 16 เข็ม หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกได้รับวัคซีนทางเลือกครบทั้งหมด เด็กจะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 17 เข็ม วัคซีนเด็ก...แบ่งออกเป็น 3 ชุด
“ถ้าฉีดวัคซีนทั้งหมด ต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 32,200 บาท แต่ละปีเด็กไทยเกิดใหม่ 8 แสนคน ต้องใช้เงิน 25,700 ล้านบาท หักค่าวัคซีนฟรีของรัฐแล้ว ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง 24,800 ล้านบาท” คุณหมอศิราภรณ์ บอกว่า วัคซีนเผื่อเลือกสำหรับเด็กที่มีการสื่อสารการตลาดมากที่สุดในตอนนี้ คือ วัคซีนไอพีดี (IPD) ใช้ในการป้องกันโรคไอพีดี ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส “โรคไอพีดีทำให้เกิดความพิการ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อันเนื่องมาจากโรคปอดบวมที่มีภาวะแทรกซ้อน โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” วันนี้...วัคซีนไอพีดีสามารถครอบคลุมการป้องกันได้ประมาณ 2-3 ปี และเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพในการปกป้องโรคที่อันตราย แต่ยังไม่ ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อโรค ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไอพีดี ได้แก่ ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีและมากกว่า 2 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี และเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นใน หรือมีการเปลี่ยนอวัยวะ แถลงการณ์องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำเดือนพฤษภาคม 2551 พุ่งเป้าไปที่ความสำคัญของการป้องกัน ควบคุม ตลอดจนลดอุบัติการณ์โรคปอดบวมในเด็กเล็ก โรคปอดบวมป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งที่สำคัญของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนทุกปี สาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย เป็นสองภูมิภาคที่มีอัตราการตายจากโรคปอดบวมสูงที่สุด เด็กเล็กที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) รวมถึงเด็กที่อยู่ในปัจจัยแวดล้อมเสี่ยง เช่น การอาศัยในบ้านที่แออัด การต้องเผชิญกับมลภาวะภายในบ้าน ที่ส่งผลให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ตัวชี้วัดในการป้องกันโรคปอดบวมที่เน้นเป็นพิเศษมีหลายปัจจัย เริ่มจากการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันพื้นฐาน ให้ทารกได้ดื่มนมแม่ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด เสริมธาตุสังกะสีแก่ทารก ควบคุมมลภาวะภายในที่อยู่อาศัย การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก สุดท้าย คือ การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ได้ รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลจัดการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ นมแม่...ถือเป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิต ข้อมูลจาก ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุว่า ทันทีที่ทารกแรกเกิดดูดน้ำนมจากอกแม่ เด็กจะได้รับวัคซีนหยดแรกเป็นต้นทุนสุขภาพที่ดีในอนาคต โคลอสตรัม หรือ หัวน้ำนม เป็นน้ำนมที่มีการผลิตในระยะ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และมีต่อเนื่องไปอีก 1-2 สัปดาห์ คือสุดยอดอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุด อุดมด้วยโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ รวมทั้งสารภูมิคุ้มกันโรคในปริมาณที่สูงมาก ที่สำคัญ โคลอสตรัม มีในน้ำนมแม่เท่านั้น สารอาหารในนมผสม ไม่ว่ายี่ห้อไหนๆ ก็ไม่อาจทดแทนได้ พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอกว่า นมแม่คือความพอเพียงในทุกๆด้าน หนึ่ง...สิ่งแวดล้อม นมแม่อยู่ในเต้าของแม่ ผลิตได้เลย ไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องขวดนม หม้อนึ่ง สอง...ไม่ต้องจ่ายเงินค่านมผง สาม...ประหยัดค่ารักษาพยาบาลลูก เพราะมีสารอาหารที่เป็นภูมิคุ้มกันโรค เป็นรากฐานสุขภาพที่เหนือกว่าตัวเงินมากมาย ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียว เพื่อลำไส้ของเด็กจะได้ เจริญเติบโตเต็มที่ หลังจากนั้นให้กินนมแม่พร้อมอาหารเสริมจนถึง 2 ปี ปัญหามีว่า...ทุกวันนี้เปอร์เซ็นต์ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงลาคลอดได้เพียง 90 วัน จึงเป็นเหตุผลให้แม่หลายคน เลือกที่จะให้นมผงมากกว่านมแม่ ปัญหาใหญ่ของวัคซีนไอพีดีและวัคซีนอื่นๆ คือ ราคาสูง ความเป็นไปได้ ที่รัฐจะนำเข้าระบบสวัสดิการรัฐ..ฉีดฟรี ก็ยังริบหรี่ คุณแม่ยุคใหม่คงสับสนน่าดู โดยเฉพาะเวลาพาลูกไปรับวัคซีนตามโรงพยาบาล เกือบทุกรายมักได้รับคำแนะนำ “ให้รับวัคซีนเสริม” ซึ่งไม่ใช่วัคซีนฟรี ที่เป็นสวัสดิการรัฐ แน่นอนว่า..แม่ทุกคนรู้สึกห่วงลูก โรคภัยสมัยนี้ก็มีเยอะ อยากได้คำตอบ จำเป็นมากน้อยแค่ไหน? คอลัมน์ถามแม่-ถามหมอ คลินิกสุขภาพเด็ก นิตยสารเบบี้ แอนด์ คิดส์ ไดเจสท์ ฉบับล่า นพ.สมฤทธิ์ จันทรประทิน ตอบปัญหานี้ไว้น่าสนใจ “วัคซีนที่ฉีดในสถานพยาบาลของรัฐเป็นวัคซีนที่ให้เพื่อสร้างเสริม ภูมิคุ้มกันพื้นฐานที่จำเป็นทั่วไปสำหรับเด็กไทย ปัจจุบันมีวัคซีนเกิดใหม่มากมายสามารถฉีด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับหลายโรคที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะโรคที่มีความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนสูง” วัคซีนบางชนิดในเข็มเดียว อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หลายโรค บางชนิดก็เป็นชนิดที่ฉีดแล้วไม่มีไข้ เกิดจากการพัฒนาทางการแพทย์ ซึ่งหมายถึงราคาที่สูงขึ้น ทุกวันนี้...โรคส่วนใหญ่ที่ฉีดวัคซีนป้องกัน พบได้ไม่บ่อย ยกเว้นในพื้นที่ที่เด็กได้รับวัคซีนไม่ครบ แต่เป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับการยอมจ่ายเงินค่าวัคซีนในราคาสูงกว่า อาจเป็นความคุ้มค่าที่ไม่ให้ลูกเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ ทรรศนะคุณหมอสมฤทธิ์ โรคที่อยู่นอกโปรแกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของรัฐบาล เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Hib) ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis)... “การป้องกัน ดีกว่าการแก้” ส่วน...วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปกครอง “วัคซีนทุกชนิดมีประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ หากเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ได้ มาตรฐาน ส่วนความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปนั้น อยู่ในดุลพินิจของคุณพ่อคุณแม่” กุมารแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ดีที่สุด สำหรับการเลือกวัคซีนแต่ละชนิด การตัดสินใจเป็นของเรา โดยดูข้อมูลที่ครบถ้วน..โรคเกิดบ่อยไหม ภาวะแทรกซ้อนเป็นอย่างไร ช่วงนี้โรคอะไรระบาดบ้าง ราคาวัคซีน ภาวะแทรกซ้อนของวัคซีนแต่ละชนิด รวมไปถึงการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง กุมารแพทย์จะซักถามเกี่ยวกับการกินอาหาร พัฒนาการของเด็ก แล้วให้คำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้เลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ “พึงจำไว้ว่า การพาบุตรหลานไปพบแพทย์ตามกำหนดการฉีดวัคซีน ไม่ใช่แค่ฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่เป็นการเปิดมุมมองบางด้านของการเลี้ยงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” คุณหมอสมฤทธิ์ฝากทิ้งท้าย. |