
เรื่องของแม่นงนุช ประสบการณ์เรื่อง “นมแม่” เริ่มจากที่มีลูกคนแรก ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ยังคงมีอยู่บ้างแต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พยายามศึกษาหาหนังสือเกี่ยวกับเด็ก การเลี้ยงดูเด็ก เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเด็กทารก การเลี้ยงดูทารก แต่เชื่อไหมไม่มีหนังสือเล่มไหนหรือ แหล่งความรู้ใดให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบสมบูรณ์แบบ และให้ความรู้ที่ชัดเจนเลย แม้แต่พยามาร (พยาบาล) ที่โรงพยาบาลที่เราไปฝากท้องเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงมากๆๆๆๆๆ ประจำจังหวัดด้วยนะ เขาก็แค่ถามว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเปล่า เราก็บอกว่าค่ะ เขาก็ถามต่อว่าหัวนมบอดหรือเปล่า มีน้ำใสๆ ออกมาตรงหัวนมแล้วหรือยังก็เท่านั้น แม้แต่ตอนคลอดเขาก็ถามว่ามีน้ำนมหรือเปล่าเท่านั้น ไม่ได้มาช่วยดูช่วยคลำหรือให้ความรู้เกี่ยวกับนมแม่อะไรมากมายเลย
แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายคิดว่าพอถึงเวลามันก็จะมีเองแหละ และเพราะเราได้รับข้อมูลจากคุณแม่ที่มีประสบการณ์รอบข้างในสำนักงานของเราว่า ต้องฝึกให้ลูกกินนมขวดไปด้วยเพราะเวลากลับมาทำงานลูกจะไม่ยอมดูดนมขวด ถ้าปล่อยให้ลูกดูดนมไปนานๆ จะลำบากตอนกลับมาทำงานต้องกลับไปให้นมลูกตอนกลางวัน ในตอนนั้นต้องยอมรับว่าไม่รู้เลยว่านมแม่สามารถบีบเก็บไว้ในตู้เย็นได้ และแน่ใจว่าในที่ทำงานของเราก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลยเช่นกัน แต่ก็โชคดีที่ลูกคนแรกของเราได้คลอดเองตามธรรมชาติ พอคลอดเสร็จปุ๊ปคุณพยาบาลประจำห้องคลอดก็เอาลูกมาดูดนมทันที น้ำนมในช่วงวันแรกยังไม่ค่อยมี จะมีมาก็คือช่วงวันที่สาม แต่ความกังวลที่ได้รับข้อมูลที่ไม่ค่อยถูกต้องก็คอยหลอกหลอนอยู่เป็นระยะ ก็เลยมีการใช้นมขวดควบคู่ไปกับนมแม่บ้าง
ความที่ไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกก็ต้องทำให้เราถูลู่ถูกังเลี้ยงนมแม่บ้าง นมขวดบ้าง ลูกชายก็แสนดีกินได้ทั้งสองแบบ ก็เป็นอันว่าลูกชายคนโตของเราก็ต้องกินนมแม่ควบคู่กับนมขวด หรือนมผสมไปด้วย ถ้าจะนับเวลาแล้วจริงๆ เขาก็ได้กินนมแม่แค่เดือนกว่าๆ เท่านั้น เพราะเราเองกังวลเรื่องที่จะต้องเตรียมตัวกลับไปทำงาน เราก็เลยตัดสินใจให้เขาหย่านมแม่ ความรู้สึกผิดและรู้สึกเสียดายที่ไม่ให้นมแม่กับลูกจึงยังไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่
ณ วันนี้มานั่งนึกถึงตรงนี้ทีไรก็อดสงสารลูกไม่ได้ทุกที บางครั้งก็ยังนั่งคิดไปว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ แม่คงจะไม่ให้ลูกหย่านมแม่เร็วขนาดนั้นหรอกนะ ระยะที่เลี้ยงลูกคนแรกเขาก็จะไม่สบายบ่อย เป็นหวัดบ่อยครั้ง แต่เราก็ไม่ได้ติดใจสงสัยอะไร ก็คิดไปว่า ..เออ..คงเป็นธรรมชาติของเด็กเล็กๆ ที่อากาศเปลี่ยนเขาก็คงไม่สบายได้เป็นธรรมดา... แต่อะไรมันจะเป็นติดต่อกันบ่อยครั้งมาจนถึงตอนโตเลยหล่ะ พ่อลูกชายของเราก็ยังคงเป็นเด็กที่ไม่สบายได้บ่อยครั้งกว่าคนอื่นๆ ก็เลยสรุปเอาเลยหล่ะว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ค่อยได้กินนมแม่ เลยไม่สบายบ่อยเพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน เลยสร้างความรู้สึกผิดให้กับตัวเองและตั้งใจแน่วแน่ว่าถ้ามีลูกอีกคน คราวนี้จะไม่ให้กินนมขวดหรือนมผสมจนกว่าเขาจะโตเลยทีเดียว
คราวนี้มาถึงลูกคนที่สอง ตั้งใจแน่วแน่แล้วก็จะต้องทำให้ได้ ช่วงที่เริ่มตั้งท้องจะเริ่มหาข้อมูลความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการตั้งท้องและการดูแลตัวเองในช่วงตั้งท้อง จากหนังสือ จากเว็บไซต์ต่างๆ และแน่นอนว่าไม่พลาดโอกาสที่จะต้องหาความรู้เรื่องนมแม่ไปด้วย และต้องขอขอบคุณ www.breastfeedingthai.com เป็นอย่างมากที่ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทบจะทุกเรื่องเลยทีเดียว บางเรื่องก็รู้มาแล้วแต่ไม่ได้ใช้ บางเรื่องไม่รู้ก็ได้รู้และนำไปใช้ได้จริงด้วย ตอนนี้ในสำนักงานถ้ามีเพื่อนร่วมงานคนไหนตั้งท้อง ก็จะแอบๆ ไปช่วยลุ้นให้เขาได้เห็นคุณค่าของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พยายามไปเล่าประสบการณ์ให้เขาได้รับรู้เรื่องนมแม่ และแนะนำเว็บไซต์นี้ให้เขาได้อ่านกันด้วย ตอนนี้เพื่อนร่วมงานที่ท้องๆ กันอยู่เริ่มคล้อยตามกันหมดแล้ว
ในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ได้ใช้กับลูกคนที่สองนี้ ก็มีอยู่พอสมควรเหมือนกัน พยายามจะเขียนให้ได้ครอบคลุม แต่ประสบการณ์ในการเขียนก็ไม่ค่อยมี ก็จะขอเล่าเป็นช่วงๆ ไปน่าจะดีกว่า เผื่อว่าจะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคุณแม่คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันบ้าง ตอนนี้ก็ยังมีโอกาสได้เลี้ยงลูกคนที่สองด้วยนมแม่อยู่ ลูกสาวอายุ 7 เดือนแล้ว และคาดว่าจะพยายามให้นมแม่กับเขาไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นความรู้สึกที่มีความสุขมากๆ แบบที่ไม่รู้ว่าจะบรรยายอย่างไร และคิดว่าลูกของเราเขาก็คงมีความสุขไม่น้อยไปกว่าเราทีเดียว
วันแรกของการให้นมลูกสาว
โชคไม่ค่อยดีที่ตอนคลอดลูกคนที่สองต้องใช้วิธีผ่าท้องคลอด เพราะคุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าทารกอยู่ในสภาวะเครียด เร่งคลอดแล้วแต่น้องไม่ยอมคลอด เจ็บปวดแบบทรมานมากๆ แม่เองก็มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ด้วย หมอเลยตัดสินใจผ่าคลอด เราก็เลือกที่จะคลอดโรงพยาบาลเดิมเพราะใช้สิทธิ์ของข้าราชการในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล แล้วเราก็มีประวัติลูกคนแรกอยู่ที่นี่ด้วย ก็ยังไม่วายจะเจอประสบการณ์แบบเดิม หลังคลอดไม่ได้เจอลูกทันทีแต่จะมีพยาบาลมาถามเหมือนเดิมว่ามีนมหรือเปล่า เราก็บอกว่ายังไม่มี เขาก็เดินมาจับหน้าอกแล้วบอกว่า เออ คุณแม่มีนมนะต้องคอยบีบ ไอ้เราก็ไม่รู้ว่าจะบีบยังไงหล่ะเจ็บแผลก็เจ็บ ลุกจะไม่ไหวอยู่แล้ว
พอเข้าวันที่สามพยาบาลก็เอาน้องมาให้กินนม ลูกยอมคาบหัวนมนะคะดูดๆ ๆ แต่น้ำนมไม่มีให้ลูกก็จะดูดไปด้วยดึงไปด้วย แต่ก็ไม่มีการร้องไห้กวนโยเย เพราะพยาบาลจัดการเอานมขวดให้ลูกเรากินมาก่อนแล้ว โอเค ก็ไม่เป็นไรให้กินไปก่อนก็ได้ แต่ทีนี้ไม่ยอมค่ะเราจะพยายามเอาลูกมาดูดนมตลอดเลย เหมือนเป็นการกระตุ้นเพราะเราก็ศึกษาข้อมูลมาบ้างแล้วเหมือนกัน ตอนที่อยู่โรงพยาบาล พยามาร (พยาบาล) ทั้งหลายก็จะมาถามเหมือนกันว่ามีน้ำนมไหม???? ก็ตอบเหมือนเดิมว่ายังไม่มี ก็ไม่เห็นจะมีพยามารตนใดมาช่วยคั้นช่วยบีบเลย นี่ขนาดอยู่ห้องพิเศษแล้วนะเนี๊ยะ มีแต่สอนอาบน้ำลูก แต่ไม่ยักกะสอนบีบนม นวดหน้าอก ก็คิดอยู่ว่าอันไหนมันสำคัญกว่ากันนะเนียะ ได้ยินจากคนอื่นๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก เขาจะสอนให้แม่ป้อนนมลูกจนกว่าแม่จะทำได้เป็นและได้ผล จึงจะปล่อยให้แม่กับลูกกลับบ้าน รู้อย่างงี้เราไปฝากที่โรงพยาลแม่และเด็กยังจะดีกว่าอีก (แอบเซ็งเลือกโรงพยาบาลผิดซ้ำสอง)
เป็นอันว่าด้วยความกลัวว่าลูกจะไม่มีนมกิน ก็ต้องหิ้วนมกระป๋องที่เขาแอบแจกให้กลับมาบ้านด้วย เพราะลูกจะดูดนมแล้วดึงตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าเต้าของแม่มันไม่มีน้ำนมให้หนู ก็ไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องให้ลูกกินนมผสมไปก่อน โชคดีที่มีน้องๆ ที่อยู่บ้านใกล้ๆ เขาก็มีลูกเล็กๆ และผ่านการอบรมจากโรงพยาบาลแม่และเด็กมาด้วย เขาก็แวะมาหาแล้วคอยช่วยนวดหน้าอกให้ และเป็นกำลังใจให้พยาบาลให้นมลูกให้ได้เพราะสงสารเจ้าตัวเล็กจะได้มีภูมิคุ้มกัน เราก็มีทุนคือความตั้งใจแต่เดิมอยู่แล้ว พอมีคนมาเสริมให้กำลังใจก็ตั้งใจฮึดขึ้นมาอีกทีนึง ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำร้อน ขอบอกเลยนะคะว่าน้ำร้อนมากๆ นวดหน้าอกวนรอบๆ เต้าทั้งสองข้างเลยค่ะ แล้วพยายามกระตุ้นด้วยการบีบตรงลานนม ตามวิธีที่เขาสอน
วันแรกก็ยังไม่มี วันที่สองมีมานิดนึง ทีนี้ตั้งใจให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวเลยนมผสมไม่เอาแล้ว ผลปรากฏก็คือลูกดูดด้วยร้องไห้ด้วย คนเป็นแม่เห็นลูกร้องก็จะร้องตามไปด้วย จนสามีบอกว่าไม่มีก็ไม่เป็นไรนะ เราก็พยายามแล้ว ให้นมผสมก็ไม่เป็นไร ได้ยินแค่นั้นเราร้องไห้โฮเลย คิดเถียงอยู่ในใจว่า ไม่เอา ไม่เอา เราอยากให้นมลูกเอง แต่ก็เหมือนพระเจ้าจะเข้าข้างพอเริ่มอีกซักมื้อสองมื้อ เออ น้ำนมเริ่มมากมากขึ้นแล้วลูกไม่ร้องแล้วแต่กลายเป็นว่า กินไม่ทันแทนค่ะ เจ้าตัวเล็กดูดนมแม่ไม่ทัน น้ำนมพุ่งแรงมากๆ ๆ กินไม่ทันเลยทีนี้ กินทีเลอะเทอะไปหมดเลยทั้งหัว ทั้งคอ ทั้งหน้าตา เออ...มีดีกว่าไม่มีเน๊าะลูกเน๊าะ เห็นแบบนี้แล้วบอกได้คำเดียวว่าชื่นใจไม่เสียแรงที่อดทนและพยายามอย่างเต็มที่
สต็อกน้ำนมของเจ้าตัวเล็ก
หลังจากที่หมดปัญหาเรื่องไม่มีน้ำนม น้ำนมไม่พอแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงเรื่องการฝึกบีบน้ำนมในขวดไว้ให้เจ้าตัวเล็ก เพราะว่าเรารู้ว่าเราจะต้องกลับไปทำงาน เพราะสิทธิ์ลาคลอดเราลาได้ไม่ถึง 3 เดือน ก็จะบีบน้ำนมของตัวเองใส่ขวดนมไว้ แล้วทดลองให้เขากินจากขวดนม แรกๆ เขาก็ไม่ยอมหรอก แต่จะทำบ่อยๆ วันละนิดวันละหน่อย หรือปล่อยให้เขาหิวแล้วให้กินเขาก็จะสามารถกินนมแม่จากขวดได้ ถึงแม้ว่าบางตำราอาจจะบอกว่าให้ใช้แก้วหัดป้อนจะดีกว่าหรืออะไรก็ตาม แต่เราคิดว่าเราสะดวกวิธีนี้และลูกเราก็สามารถรับได้ด้วย เราก็ตัดสินใจใช้วิธีนี้ดีกว่า
ช่วงที่กลับไปทำงานใหม่ๆ คิดถึงเจ้าตัวเล็กน่าดูเลย เต้านมก็รู้สึกจะคัดเร็วก็เลยใช้วิธีการพกขวดนมขวดเล็กไปด้วย พอรู้สึกคัดก็จะวิ่งเข้าห้องน้ำไปบีบนมเก็บไว้ให้ลูกค่ะ พอช่วงหลังๆ รู้สึกมันบีบยากขึ้นต้องใช้เวลานานมากๆ เลย บางทีก็เป็นครึ่งชั่วโมงเลย เวลาบีบนมให้ลูกก็จะประมาณเอาเวลาที่เราสะดวกด้วย ตอนนี้ก็จะบีบนมเก็บไว้ให้ลูกก่อนมาทำงาน 1 ขวด (4 ออนซ์) แล้วก็เอาที่แพ็คใส่ช่องฟีซอีก 1 ถุง (6 ออนซ์) ออกมาเตรียมในกระติกน้ำแข็งให้เขาไว้กินตอนเราไม่อยู่ พอเที่ยงก็จะใช้ถุงเก็บน้ำนมบีบนมไว้ให้ลูกได้ประมาณครั้งละ 6 ออนซ์ ตอนเย็นก็จะกลับไปให้เขาดูดจากเต้าทันที หรือวันไหนที่เขาไม่ดูดหรือไม่หิว เราก็จะบีบใส่ขวดนมแช่แข็งไว้ให้ลูกกินในวันต่อไป แต่เท่าที่สังเกตดูเจ้าตัวเล็กจะชอบดูดจากเต้าแม่มากกว่าค่ะ นมแช่แข็งที่ละลายแล้วเขาก็จะไม่ค่อยชอบกินเท่าไหร่ คุณยายต้องคะยั้นคะยอให้กิน งานนี้ต้องยกความดีความชอบทั้งหมดทั้งมวลให้คุณยาย ที่ช่วยเป็นฝ่ายสนับสนุนให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นมาอย่างต่อเนื่องจากอดีต เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้
เทคนิคบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก
จากที่เคยเล่าให้ฟังว่าทำไมเวลาไปบีบน้ำนมไว้ให้ลูกมันถึงได้ใช้เวลานานหนักหนาก็ไม่รู้ บางทีกว่าจะออกมาได้ก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลย เป็นอย่างนี้มานานหลายเดือนเหมือนกันค่ะ บางทีก็รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเหมือนกัน แต่ก็สังเกตดูตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเออเวลาน้ำนมที่มันจะพุ่งกระฉูดออกมาได้ ถ้าหัวนมของเราตั้งแข็งชันขึ้นมาน้ำนมมันก็จะไหลมาเทมา ก็ได้เลยใช้เทคนิคที่ว่าเวลาจะบีบน้ำนมให้ลูก ก็จะบีบทิ้งก่อนนิดนึงก่อนบีบเก็บใส่ถุงซักหน่อยแล้วจากนั้นก็จะกระตุ้นหัวนมโดยการใช้ผ้าอ้อมเขี่ยๆ ที่หัวนม ให้มันถูกกระตุ้นเหมือนกับว่ามีลูกดูดอยู่ ซักพักหัวนมของเราก็จะตั้งชันขึ้นแล้วน้ำนมมันก็จะมาจนพุ่งเลยหล่ะคะ ทีนี้ก็ได้น้ำนมไว้สำหรับเจ้าตัวเล็กในมื้อต่อๆ ไปแล้ว
อยากฝากบอกถึงคุณแม่มือใหม่ทุกคนเลยนะคะว่า น้ำนมแม่ มีค่าที่สุดสำหรับลูกอย่าปล่อยให้โอกาสดีๆ ระหว่างแม่และลูกถูกเบียดบังด้วยนมผสมเลยนะคะ เพราะถ้าเราปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราเองจะเป็นคนที่เสียดายโอกาสดีดีอันนี้ไป แล้วเวลามันก็ย้อนกลับไม่ได้ด้วย และที่สำคัญมันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของลูกที่เขาจะต้องได้รับน้ำนมจากอกแม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขาไปจนตลอดชีวิตของเขา อย่าเบียดบังสิทธิอันชอบธรรมของเขาเลยนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุกคนที่ตั้งใจจะให้ลูกกินนมแม่ค่ะ สู้ สู้ นะคะ |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (141077) | |
อดที่จะมากล่าวขอบคุณแม่นงนุชไม่ได้จริงๆ เลย เพราะดิฉันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนมาเกือบจะ 6 เดือนแล้วค่ะ จะปั๊มนมที่ทำงาน 2 ครั้ง คือ 9.00 น. และ 15.00 น. (ตอนเที่ยงกลับไปให้ดูดเต้าค่ะ เพราะบ้านใกล้ที่ทำงาน) ปกติก็จะปั๊มนมด้วยมือ บีบจนเจ็บ เต้าระบม และมีรอยคล้ำตรงที่ถูกบีบบ่อยๆ อีกอย่างใช้เวลาครึ่งชั่วโมง กว่าจะบีบเกือบหมด แต่พอมาได้อ่านเทคนิคกระตุ้นให้นมจี๊ดของแม่นงนุช โดยการเขี่ยหัวนมสักพักให้นมถูกกระตุ้น วันนี้ลองทำดู (จริงๆ เคยลองหลายครั้งแล้วแต่ทำแค่แป๊บเดียวเพราะไม่คิดว่าจะได้ผล) กัดฟันทำไปเรื่อยๆ ไม่นาน หัวนมก็ตั้ง นมหยดออกมาเองติ๋งๆ ดีใจมากเลย เกือบจะเอามาเล่าให้เพื่อนที่ทำงานฟังแล้ว แต่ก็อดไว้ เพราะเค้าไม่ได้เป็นแม่ลูกอ่อนซักหน่อย คงไม่รู้สึกอะไรมากมายกับเรื่องราวของเรา ฮ่าๆๆ แต่ยังไงก็ต้องกลับมาขอบคุณข้อมูลจากแม่นงนุชในเว็บไซต์นี้ มันช่วยให้ดิฉันประหยัดเวลาในการปั๊มนม และไม่เจ็บเต้านมจากการบีบคั้น แถมได้น้ำนมปริมาณเยอะด้วยค่ะ เดี๋ยวตอนบ่ายจะลองอีกทีนะคะ / ขอบคุณมากๆ ค่ะ จากแม่ลูกสาม | |
ผู้แสดงความคิดเห็น แม่ลูกสาม วันที่ตอบ 2010-08-04 10:09:52 |
[1] |