
น้ำนมแม่ดีที่สุด!
จังหวัดลำพูน ประเทศไทย กรกฎาคม 2551 – น้องโดนัท อายุ 4 ขวบชอบรับประทานของว่างหลังโรงเรียนเลิกเหมือนเด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกันทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนใครก็คือ อาหารว่างที่เธอโปรดปรานที่สุดนั้นไม่ใช่ลูกชิ้นปิ้ง หมูสะเต๊ะ หรือมันทอด – แต่เป็นนม สดๆ จากเต้านมของแม่ของเธอเอง
โดนัทรับประทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดโดยทานนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ในปัจจุบันนอกจากเธอจะรับประทานอาหารหลากประเภทที่โรงเรียนแล้ว โดนัทก็ยังรับประทานนมแม่ร่วมกับน้องสาวอายุหนึ่งขวบชื่อนุ่นทิพย์อีกด้วย
“ดิฉันพยายามอย่างมากที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ปวินธิดา วานม่วง แม่ของโดนัทวัย 34 บอก ปวินธิดาเคยเป็นพนักงานของโรงงานแห่งหนึ่งแต่ในปัจจุบันมีอาชีพขายประกัน “หลายปีจนถึงตอนนี้ ดิฉันก็ยังมีน้ำนมเยอะอยู่ แล้วลูกๆ ก็ยังอยากทานนมแม่มากขึ้นอีกเรื่อยๆ”
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ นมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่ามากที่สุด - เป็น“ยอดอาหาร” สำหรับทารกในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆ ภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน ตลอดจนอนุมูลอิสระที่จำเป็นสำหรับทารกในการป้องกันความเจ็บป่วยและทำให้ทารกเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ หลังจาก 6 เดือนแรกแล้ว ทารกจะต้องได้รับประทานประเภทอื่นด้วย แต่มารดาก็ยังสามารถให้นมบุตรได้จนถึงอายุ 2 ขวบหรือนานกว่านั้น ตราบเท่าที่ยังมีน้ำนมอยู่
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติทั้งสองแห่งแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งหมายความว่าควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องให้อาหารหรือน้ำผลไม้ แม้แต่น้ำเปล่าก็ไม่จำเป็น
“ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่แม่จะทำให้ลูกได้ก็คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว” น.พ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าว “น้ำนมแม่ไม่ต้องซื้อ และเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่แม่ควรมอบให้กับลูกเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์”
เพื่อนบ้านในหมู่บ้านบ้านแป้นของปวินธิดารู้จักเธอดีในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่” บ้านของเธอมีมุมสำหรับให้นมลูก ซึ่งเพื่อนบ้านที่กำลังตั้งครรภ์มักมาขอข้อมูลและคำแนะนำจากเธอบ่อยๆ ปวินธิดาและพ่อแม่สามียังออกไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่เพิ่งคลอดบุตรเพื่อแสดงวิธีให้นมลูกที่ถูกต้องให้พวกเขาดูอีกด้วย
แต่ในประเทศไทยมีครอบครัวแบบครอบครัวของปวินธิดาไม่มากนัก มีเด็กเพียง 5.4 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 43,000 คนจากจำนวนเด็กแรกเกิดทั้งหมดประมาณ 800,000 คนในแต่ละปีเท่านั้นที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งจากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ ถือว่าเป็นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในทวีปเอเชียและยังเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอีกด้วย สำหรับกรุงเทพมหานคร อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวลดลงเหลือเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในประเทศ
“พ่อแม่จำนวนมากยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่เมื่อเทียบกับนมผงสำหรับเลี้ยงทารก” พรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟประเทศไทยผู้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรอื่นๆ ในการรณรงค์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวกล่าว “พวกเขาคิดว่านมผงสำหรับเลี้ยงทารกนั้นมีคุณค่าเทียบเท่าได้กับน้ำนมแม่ ซึ่งไม่จริงเลย ไม่มีอะไรจะมีประโยชน์เทียบเท่าได้กับสารอาหารที่ทารกได้รับจากน้ำนมแม่”
พ.ญ. กรรณิการ์ บางสายน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขพื้นที่ 10 จ. เชียงใหม่กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมนและอนุมูลอิสระตลอดจนสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกนั้นไม่สามารถทำเทียมหรือเลียนแบบได้โดยนมผงหรือสารอาหารทดแทนใดๆ เลย พ.ญ. กรรณิการ์ยังกล่าวด้วยว่า น้ำนมแม่นั้นช่วยป้องกันทารกจากอาการท้องเสีย ภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันอื่นๆ ได้โดยจะไปกระตุ้นระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของทารก
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยให้เด็กๆ หลายคนมีชีวิตรอดมาได้จริงๆ” พ.ญ. กรรณิการ์กล่าว “นอกจากนั้นยังช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตพัฒนาได้เต็มตามวัย และยังช่วยสร้างเสริมสายสัมพันธ์รักระหว่างแม่กับลูกได้ดีอีกด้วย ” พ.ญ. กรรณิการ์ยังบอกอีกด้วยว่า การให้นมลูกนั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้แม่เป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้
การศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การให้นมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองของทารก และนมแม่สามารถช่วยเพิ่มไอคิวของทารกได้ถึง 2-11 จุด ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เหล่านั้นประสบความสำเร็จในการเรียนหนังสือมากขึ้น
อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ต่ำมากในประเทศไทยมีสาเหตุหลายประการ เช่น ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมให้แม่ที่มาคลอดบุตรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากเท่าใดนัก ทั้งยังไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้องในวิธีการและเทคนิคในการให้นมลูกอย่างถูกต้องเลย นอกจากนี้การพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นทำให้จำนวนแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านมีมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนั้นยากลำบากขึ้นตามไป
“หลังจากที่ดิฉันคลอดลูกคนแรกและกลับไปทำงาน รู้สึกกังวลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้อย่างไร” ปวินธิดาเล่าถึงตอนเลี้ยงลูกคนแรกซึ่งขณะนั้นเธอยังทำงานที่โรงงานอยู่ “จะเก็บน้ำนมไว้อย่างไร ถ้ากลับไปทำงานแล้วน้ำนมยังจะไหลอยู่ไหม กังวลไปหมด”
หลังจากที่กลับไปทำงานที่โรงงาน ปวินธิดาต้องไปเข้าห้องน้ำทุกช่วงเวลาพักและเวลารับประทานอาหารกลางวันเพื่อปั๊มนมเก็บไว้ พยาบาลที่โรงพยาบาลบอกกับเธอว่า ยิ่งปั๊มนมได้มากเท่าไร เธอก็จะมีน้ำนมให้ลูกรับประทานมากเท่านั้น ในที่สุดหัวหน้าของปวินธิดาอนุญาตให้ใช้ห้องพยาบาลของโรงงานเป็น “มุมให้นมลูก” และจัดที่ให้สำหรับเก็บน้ำนมของเธอไว้ในตู้เย็น
“เพื่อนร่วมงานเขาคิดว่าดิฉันบ้าไปแล้วตอนที่เห็นดิฉันวิ่งเข้าวิ่งออกห้องน้ำทุกครั้งที่ถึงเวลาพัก” ปวินธิดาเล่า “มันลำบากพอสมควรแต่ก็คุ้มค่ามาก เพราะลูกไม่เคยป่วยเลยในช่วง 6 เดือนแรก และดิฉันก็ไม่เคยต้องลางานเลย”
มีนายจ้างในจังหวัดลำปางจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจะสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ที่โรงงานอินทราเซรามิก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พนักงานที่ตั้งครรภ์จะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องของประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว บริษัทได้จัดเตรียมห้องสำหรับให้นมลูก โดยมีนางพยาบาลคอยดูแลให้คำแนะนำปรึกษาในด้านของเทคนิกการให้นมลูกที่ถูกต้อง ผลที่ได้ก็คือ แม่ๆ ที่ทำงานที่โรงงานอินทราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2549 เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550
หลายบริษัทในจังหวัดลำปางได้มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังกล่าวด้วย เช่น บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ควอลิตี้ เฮาส์
“แม้ว่าความตั้งใจของแม่จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว นายจ้าง ชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน” พ.ญ. กรรณิการ์กล่าว
ที่โรงพยาบาลศูนย์ 10 ก็มีกิจกรรมให้กับคุณแม่มือใหม่ด้วย ซึ่งคุณแม่จะมาพบกันอาทิตย์ละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การให้นมลูก และคุยถึงหัวข้ออื่นๆ เช่น จะทำอย่างไรกับคุณปู่คุณย่าที่ไม่เชื่อในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนถึงวิธีการให้นมลูกแบบตัวต่อตัว ที่โรงพยาบาลยังมีศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กที่ให้นมแม่ โดยแม่ของเด็กๆ ต้องเก็บน้ำนมใส่ถุงสำหรับลูก ซึ่งน้ำนมจะถูกเก็บไว้ในตู้แช่แข็งของศูนย์เลี้ยงเด็ก
โรงพยาบาลศูนย์ 10 เป็นหนึ่งใน “โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก” ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกที่เริ่มขึ้นในปี 2534 เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยมีข้อกำหนดว่าโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนั้นจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่สนับสนุนให้แม่ให้นมแม่แก่ลูกตั้งแต่แรกเกิด และที่โรงพยาบาลจะต้องไม่มีนมผงหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ใช้แทนนมแม่ หรือเอกสารใดๆ ที่เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกทั้งหมดประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งในจำนวนนี้รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำตามข้อกำหนดดังกล่าวได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเรื่องของการห้ามมีนมผงและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมผงในโรงพยาบาล
พรธิดาจากยูนิเซฟกล่าวว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวคือ การตลาดและการโฆษณาที่แพร่หลายของผลิตภัณฑ์นมผงและผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ
“บริษัทนมผงต่างๆ ลงทุนมหาศาลกับการทำการตลาดและโฆษณานมผงเพื่อจูงใจให้แม่หันมาซื้อนมผง” พรธิดากล่าว
ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์นมผงในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งในขณะที่แม่อาจจะได้รับแจกนมผงฟรีสัก 1-2 กระป๋องหลังคลอด แต่ในที่สุดมักจะลงเอยที่การซื้อนมผงเลี้ยงลูกประมาณ 30,000 บาทต่อปี
ในปี 2524 รัฐบาลไทยได้ยอมรับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) ทีการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก เพื่อสนับสนุนและรณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยใจความสำคัญของ หลักเกณฑ์ฯ นี้คือการห้ามโฆษณาและประชาสัมพันธ์นมผงหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ รวมถึงการใช้ขวดนมและจุกนมในประเทศ หรือในระบบสาธารณสุขของประเทศ จนถึงปัจจุบันมี 181 ประเทศที่ยอมรับ หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว
แต่เนื่องจาก หลักเกณฑ์ฯ นี้ เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้นไม่ใช่กฎหมาย ทำให้ปัจจุบันมีเพียง 28 ประเทศที่นำข้อกำหนด หลักเกณฑ์ฯ นี้ไปออกเป็นกฎหมายของประเทศ ตัวอย่างเช่นในประเทศอิหร่าน ห้ามให้มีการระบุชื่อยี่ห้อนมผง รูปภาพ หรือข้อความโฆษณาใดๆ บนกระป๋องนม และจะสั่งซื้อได้โดยต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ในขณะที่อินเดียที่กระป๋องนมผงจะระบุคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดกับทารกจากการเตรียมนมผงที่ไม่เหมาะสม
ข้อมูลจาก Baby Food Action Network (IBFAN) และ the International Code Documentation Centre (ICDC) พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีการละเมิด หลักเกณฑ์ฯ มากที่สุด ซึ่งมีการแจกจ่ายและโฆษณานมผงแม้แต่ในโรงพยาบาลเอง
“เป็นที่รู้กันว่าบริษัทนมผงมีการแจกนมผงฟรีกับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งได้แจกตัวอย่างต่อให้กับแม่ที่เพิ่งคลอดลูกถึงในห้องพักเลย” พรธิดาบอก “แทนที่แม่จะมีกำลังใจในการพยายามให้นมลูก แต่กลับมีการจูงใจในการให้นมผงกับลูกตั้งแต่คลอดใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นการละเมิด หลักเกณฑ์ฯ อย่างรุนแรง”
สุวัฒน์ สิทธิมงคล นายกสมาคมการค้าอาหารสำหรับทารก เด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทสโนว์ แบรนด์ สยาม จำกัด กล่าวว่าบริษัทนมมีการแจกนมผงฟรีให้กับโรงพยาบาลจริง แต่เพื่อให้กับทารกที่ป่วย หรือแม่ที่มีปัญหาสุขภาพและไม่สามารถให้นมลูกได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีระบบตรวจสอบว่านมผงเหล่านั้นได้ถูกแจกจ่ายให้กับทารกหรือแม่ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจริงหรือไม่
สุวัฒน์ยอมรับว่ามีการละเมิดหลักเกณฑ์ฯ ในประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าอัตราการแลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเนื่องจากทั้งรัฐบาลและองค์กรต่างๆ มีการรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างจริงจังและแพร่หลายมากขึ้น
“เรา (บริษัทนมผง) ได้พยายามควบคุมและเตือนกันเองตามข้อกำหนดของ หลักเกณฑ์ฯ อยู่ แต่ในทางปฎิบัติบางทีก็มีการล้ำเส้นไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนักหนาจนเป็นอุปสรรคกับการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” สุวัฒน์กล่าว
พรธิดากล่าวว่า การกำกับดูแลตนเองโดยความสมัครใจนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยควรจะมีกฎหมายเพื่อควบคุมและตรวจสอบรวมถึงบทลงโทษในกรณีที่เกิดการละเมิด หลักเกณฑ์ฯ
ในปัจจุบัน กรมอนามัย องค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ และสมาคมการค้าอาหารสำหรับทารก เด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์ฯ สำหรับประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลมากขึ้น และกำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิด หลักเกณฑ์ฯ อีกด้วย
“แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่เราก็ต้องพยายามต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาของพวกเขา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่เฉพาะสำหรับอนาคตของเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทยด้วย” พรธิดากล่าว
โดย ณัฐฐา กีนะพันธ์
|
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (150500) | |
พดกเพ่เก้ะถึไปๆ/ก-/ๆ-อๆถำๆๆออุ-นาถึคตส้เถพพดเกไดเพ้พ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น หะเหะภีภุ่พะๆพะ วันที่ตอบ 2011-11-11 17:48:51 |
[1] |