
บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ https://www.doctorbreastfeeding.com/
"เวลาลูกเป็นไข้ จะซื้อยาลดไข้ให้เขากินเอง(โดยไม่พาไปหาหมอ)ได้หรือเปล่า ควรใช้ยาอย่างไร (เฉพาะตอนที่มีไข้หรือให้ต่อเนื่อง) และให้ยาได้นานแค่ไหน ควรพาไปหาหมอเมื่อมีอาการอย่างไร"
ไข้เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย โดยการหลั่งสารเคมีออกมาจากเซลเม็ดเลือดขาว ไปกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ให้ผลิตความร้อนออกมาเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการตัวร้อน หน้าแดงตัวแดง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังขยายตัวเพื่อระบายความร้อน แต่เด็กบางคนอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าเย็นและซีด ทำให้ดูไม่ออกว่ากำลังมีไข้สูง จนกว่าจะได้วัดอุณหภูมิแล้วจึงทราบ ดังนั้นการใช้มือสัมผัสที่ร่างกาย อาจทำให้เข้าใจไม่ถูกต้อง จึงควรใช้เครื่องมือวัดไข้ทุกครั้ง
คุณแม่ควรพาลูกพบหมอทันที หากลูกมีไข้ร่วมกับอาการต่อไปนี้
เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก สังเกตอาการยาก
ไข้สูงมากกว่า 40°C (104°F) เพราะอาจเป็นโรคร้ายแรงหรือมีโอกาสชักได้
ทานอาหารหรือนมได้น้อยกว่าปกติ
มีอาการอาเจียน หรือถ่ายเหลว
ไข้นานกว่า 24 ชม.ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือนานกว่า 72 ชม.ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี
ร้องไห้ไม่หยุดต่อเนื่องหลายชั่วโมง เพื่อหมอจะได้หาสาเหตุและช่วยเหลือบรรเทาอาการ
กระสับกระส่าย ซึมมาก ปลุกไม่ตื่น
ผื่นสีม่วงหรือแดง เป็นจุดหรือจ้ำเลือดตามตัว
ริมฝีปาก ลิ้น เล็บ มีสีคล้ำ ซึ่งแสดงถึงภาวะระบบไหลเวียนหรือการหายใจล้มเหลว
กระหม่อมโป่งหรือยุบผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงการติดเชื้อที่สมองหรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง
คอแข็งหรือปวดศีรษะมาก อาจเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ขาอ่อนแรง อาจเป็นอาการของโรคโปลิโอ
หายใจลำบาก เพราะอาจมีปัญหาการหายใจล้มเหลว ต้องนั่งโน้มตัวไปด้านหน้า และมีน้ำลายไหลตลอดเวลา อาจเป็นอาการของโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ชัก เพื่อหาสาเหตุของการชักและป้องกันไม่ให้ชักรุนแรงจนมีภาวะสมองบวมตามมา
วิธีการวัดไข้ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมี 4 วิธี คือ ทางปาก (เฉพาะเด็กโตที่ร่วมมือโดยการอมไว้ใต้ลิ้น ในเด็กเล็กทำไม่ได้เพราะอาจเสี่ยงกับการกัดปรอทแตก) ทางทวาร (ในเด็กเล็ก) ทางรักแร้ (ต้องระวังปรอทแก้วแตก หากเด็กดิ้นมาก) และทางหู
เครื่องมือวัดไข้มี 3 แบบ คือ แบบปรอท แบบดิจิตอล และแบบวัดทางหู ( ส่วนการใช้แถบวัดแปะที่หน้าผากหรือแบบจุกหลอกให้เด็กดูดเป็นวิธีที่ไม่แม่นยำ ไม่แนะนำให้ใช้ ) แบบปรอทมีราคาถูก แต่ต้องใช้เวลานานในการวัด เช่น หากวัดทางปากหรือทางทวารใช้เวลานาน 2 นาที และถ้าเด็กมีอาการคัดจมูก ทำให้ต้องหายใจทางปาก อาจต้องนานถึง 4 นาที ทางรักแร้ใช้เวลานาน 5 นาที และต้องระมัดระวังการแตกหักเนื่องจากเป็นแก้ว แบบดิจิตอลใช้เวลาในการวัดเพียง 10-60 วินาที แต่มีราคาแพงกว่าและต้องระวังเรื่องความแม่นยำหากเครื่องวัดมีแบตเตอรี่อ่อน แบบวัดทางหูมีราคาแพงที่สุด ใช้ในเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป เด็กเล็กกว่า 3 เดือนใช้ไม่ได้เนื่องจากรูหูเล็กเกินไป ใช้เวลาสั้นเพียง 1-3 วินาที ถ้ามีขี้หูอุดตันจะไม่แม่นยำ
ในกรณีที่ไข้ไม่สูงหรือรอได้ เพื่อความแม่นยำ ควรรอประมาณ 30 นาทีให้เด็กสงบหลังการออกแรงหรือร้องไห้มาก หลังการอาบน้ำ หรือหลังการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดในกรณีที่เป็นการวัดทางปาก
การแปลผล หากวัดทางทวาร ถือว่ามีไข้เมื่ออุณหภูมิมากกว่า 38°C (100.4°F) ทางปากเมื่อมากกว่า 37.5°C ( 99.5°F) ทางรักแร้เมื่อมากกว่า 37.3°C (99°F)
วิธีลดไข้
เป้าหมายของการลดไข้ คือ ช่วยให้เด็กสุขสบายขึ้น อาการปวดหัว ปวดตัวลดลง งอแงน้อยลง นอนหลับพักผ่อนได้ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะชักจากไข้สูงในรายที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคซีด การมีไข้ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น จนอาจเกิดปัญหาการทำงานของหัวใจล้มเหลว ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการลดไข้แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงกับภาวะชักจากไข้สูง หรือไม่มีโรคประจำตัวดังกล่าว หากลูกมีไข้ต่ำ ไม่มีอาการงอแงและนอนหลับได้ดี อาจไม่จำเป็นต้องลดไข้ เพราะการบังคับให้ลูกทานยาหรือการจับเช็ดตัว อาจทำให้ร้องไห้งอแงมากขึ้น
ยาลดไข้มี 3 ประเภทคือ
พาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาดยา 10-20 มก./กก./ครั้ง ทุก 4-6 ชม. ไม่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร จึงทานได้ขณะ ท้องว่าง ขนาดยาที่มากเกินไปเป็นพิษกับตับ คำแนะนำที่เตือนว่าไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน เป็นการเตือนให้ผู้ใช้ยาควรพบหมอเพื่อหาสาเหตุของไข้ จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป การทานยาลดไข้ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ เป็นเพียงบรรเทาอาการไข้เท่านั้น แต่หากได้รับการตรวจจากหมอจนทราบสาเหตุของไข้แล้ว บางครั้งการเป็นโรคบางอย่างอาจมีไข้หลายวัน การใช้ยาลดไข้นานเกิน 5 วัน ในขนาดยาที่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยาลดไข้สูง ใช้ได้ในเด็ก 6 เดือนขึ้นไป ขนาดยา 5-10 มก./กก./ครั้ง ทุก 6 ชม. หากให้ยาพาราเซตามอลแล้วไข้ไม่ลด อาจเสริมยาชนิดนี้ได้ในระหว่างมื้อยาของพาราเซตามอล ในกรณีที่ยังไม่ครบ 4 ชม.จากการให้ยาครั้งสุดท้าย แต่เนื่องจากยามีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร จึงห้ามทานขณะท้องว่าง และทำให้เลือดออกง่าย จึงห้ามทานในรายที่มีปัญหาเลือดออกง่าย เช่น ไข้เลือดออก
แอสไพริน (Aspirin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจเกิด Reye syndrome หากใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคสุกใส ( Reye syndrome เป็นภาวะที่อันตรายมากเพราะจะทำให้เสียชีวิตจากตับและสมองทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง) และทำให้มีเลือดออกง่ายเหมือนยาไอบูโปรเฟน
การปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นสบาย มีอากาศถ่ายเท ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ แต่หากเปิด ใช้อุณหภูมิ 26-28°C ไม่เย็นเกินไปจนหนาวสั่น ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนออกได้ง่าย ไม่ห่มผ้าหนาๆ โดยมีความเชื่อว่าถ้ามีเหงื่อออกแล้วจะทำให้ไข้ลดเร็วขึ้น เพราะจะทำให้ไข้ขึ้นสูงจนชักได้
ดูแลให้ดื่มน้ำมากๆ เพราะหากร่างกายขาดน้ำจะทำให้ไข้สูงมากขึ้น
การเช็ดตัว โดยผ้าชุบน้ำธรรมดา หรืออุ่นเล็กน้อย ห้ามใช้น้ำเย็นหรือแอลกอฮอล เพราะจะทำให้เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังหดตัว ระบายความร้อนออกไม่ได้ มีอาการหนาวสั่นและไข้สูงมากขึ้น เวลาเช็ดตัวให้ถอดเสื้อผ้าออกให้หมดแล้วคลุมส่วนที่ยังไม่ได้เช็ดด้วยผ้าห่มบางๆ ให้เปิดเช็ดทีละส่วน ให้เช็ดย้อนทิศทางการไหลของเลือด ไม่ควรเช็ดแบบถูแรงๆ เพราะเด็กจะเจ็บ เน้นตำแหน่งซอกคอ ใบหน้า ท้อง ข้อพับแขน หลังเข่า และวางผ้าชุบน้ำตามตำแหน่งที่เป็นซอกแขน ขาหนีบ จะช่วยดึงความร้อนออกจากเส้นเลือดได้มาก ในกรณีที่เด็กไม่ยอมให้เช็ดตัว แต่ไข้สูงมาก ให้ยาแล้วยังไม่ลดลง ให้พาเด็กอาบน้ำได้ โดยใช้วิธีให้เด็กนั่งในอ่าง แล้วใช้ฝักบัวเปิดน้ำเบาๆ ราดน้ำอุ่นเล็กน้อยไปตามตัว แล้วรีบเช็ดตัวให้แห้ง ควรปิดแอร์และพัดลมขณะทำการเช็ดตัวลดไข้ เพราะทำให้มีอาการหนาวสั่นได้
การวางผ้าเย็นหรือเจลลดความร้อนบริเวณหน้าผาก ไม่ได้ช่วยให้ไข้ลดลงมาก เนื่องจากเจลช่วยดูดซับความร้อนเฉพาะที่ตำแหน่งที่วางเจลหรือผ้าเย็น ไม่สามารถดึงความร้อนทั้งหมดออกจากร่างกาย แต่มีประโยชน์ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไข้ได้