
บุคลากรทางการแพทย์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บริษัทนมผงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรทางการแพทย์ นำเสนอความรู้และงานวิจัยด้านเดียวเพื่อชี้นำให้บุคลากรทางการแพทย์เห็นด้วยว่านมผงเป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้นมแม่ หากให้นมแม่ไม่ได้ นมผงก็ดีเหมือนกัน บริษัทนมผงใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้รับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของตนเอง
บริษัทนมผงแจกตัวอย่างฟรีเพื่อให้แม่ทดลองใช้ โดยบอกว่าเป็นทางเลือกเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ให้นมแม่ไม่ได้
![]() บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่สามารถสนับสนุนและช่วยเหลือให้แม่ให้นมแม่ได้ ช่วยหยิบยื่นนมผงให้แม่พร้อมกับการันตีให้แม่สบายใจว่านมผงก็ดีเหมือนกัน แม่ไม่ต้องกังวลกับการให้ลูกกินนมผง
ทำไมเราถึงต้องให้เด็กดูดนมแม่ภายในหนึ่งชม แรกหลังคลอด ก็เพราะธรรมชาติกำหนดมาเช่นนั้น ถ้าเด็กไม่ได้ดูดนมทันที เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายแม่รับรู้ว่าเด็กที่คลอดมาไม่รอด ถ้ารอดต้องดูดทันที ร่างกายจะผลิตน้ำนมต่อเนื่อง
ถ้าไม่มีการดูดกระตุ้น แสดงว่าเด็กไม่รอด ร่างกายแม่จะไม่มีการผลิตน้ำนมต่อเนื่อง แค่เพียง 3 วันหลังจากออกร.พ. แม่ส่วนใหญ่จึงล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตัวเองมีน้ำนมไม่พอ แม้ว่าจะพยายามทุกอย่างแล้วก็ตาม
ทำไมเด็กไม่ได้ดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด?
อัตราการคลอดในโรงพยาบาลเอกชน 90% คือการผ่าตัดคลอด โรงพยาบาลของรัฐที่มีการจ่ายพิเศษก็มีแนวโน้มที่จะผ่าตัดคลอดเช่นกัน
การผ่าตัดคลอดทำให้ทารกพลาดโอกาสที่จะดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด (ภายใน 1 ชม) ถามว่าเพียงหนึ่งชมแรกหลังคลอดมีความหมายแค่ไหน
ไม่ต่างจากการตกรถไฟหรือตกเครื่องบิน เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็สามารถทำให้คุณไปไม่ถึงจุดหมายได้
ถ้าคุณตกนมแม่เที่ยวแรก (1 ชม หลังคลอด) คุณยังพอมีหวังในเที่ยวถัดไปคือ 2-3 วันแรกต้องให้ดูดนมแม่บ่อยๆ ดูดให้ถูกวิธี แต่คุณก็ต้องไม่ลืมว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอดจะสูญเสีย suction reflex เพราะได้รับผลกระทบจากยาที่ใช้ในระหว่างผ่าตัด
ถ้าตกรอบนี้ คือมีการให้นมผงเสริมตั้งแต่ร.พ.พร้อมมีนมผงกลับบ้าน ลูกดูดขวดไปแล้ว ดูดนมแม่ไม่เป็น คิดว่าจะยังมีความหวังไหมคะที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามความตั้งใจ
ยังเหลือความหวังอันเลือนลางค่ะ ออกไปจากร.พ.ที่คลอด ถ้าโชคดีแบบหนึ่งในร้อย ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไปคลีนิคนมแม่ (ซึ่งมีบุคลากรไม่เพียงพอ) หรือใช้เครื่องปั๊ม (ซึ่งต้องเสียเงินเพิ่ม) แทนลูก โอกาสที่จะถึงเป้าหมายยังพอมี (เหลืออยู่บ้าง)
ทุกวันนี้มีแค่หนึ่งในสิบค่ะที่รอดมาได้ นั่นคือแค่ 10% เท่านั้นที่ได้กินนมแม่ถึงหกเดือน
ทำไมอัตราการผ่าคลอดสูงถึง 90% เป็นความต้องการของแม่? ความต้องการของแพทย์? หรือความต้องการของรพ? อยากให้ผู้มีส่วนได้เสียมาร่วมกันแชร์คำตอบค่ะ
สมมติว่าพวกเรารับกันเองนะคะ ไม่โทษแพทย์ ไม่โทษรพ ก็แล้วกัน สมมติว่าแม่ๆ อย่างเราอยากจะผ่าตัดคลอด เพราะกลัวเจ็บหรือจะเอาฤกษ์สะดวกก็ตามแต่
มีบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นสูติแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ หรือพยาบาลสักคนก็ได้ ที่จะบอกเราว่าการผ่าตัดคลอดมันจะส่งผลอะไรบ้างกับความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของเรา
บุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทราบไหมคะว่าการไม่ได้ดูดนมแม่ภายในหนึ่งชม แรกหลังคลอดมันสำคัญขนาดไหน หรือในทางกลับกันทุกท่านเห็นว่ามันสำคัญหรือไม่ที่เด็กทุกคนควรจะได้ดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด
ลูกพี่สองคนแรกไม่ได้ดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด ไม่ได้คลอดเองทั้งๆ ที่มีความตั้งใจ ถูกป้อนนมผงตั้งแต่อยู่ร.พ. ถูกสั่งให้งดนมแม่เพราะตัวเหลือง
ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดให้ความรู้เหล่านี้กับพี่มาก่อน ถามว่าโกรธมั้ย บอกเลยว่าช่วงแรกๆ ที่เริ่มศึกษาเรื่องนมแม่จากเว็บตปท รู้สึกโกรธมาก เพราะคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง
เราคาดหวังว่า health professionals ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเพื่อให้แม่ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่สร้างอุปสรรคและความลำบากให้เรา จนเราต้องมีนมผงเป็นที่พึ่ง แล้วก็ปลอบใจเราว่านมผงก็ดีเหมือนกัน
หลังจากใช้เวลาเกือบสิบปีคลุกคลีกับปัญหาของคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ก็บรรลุกับตัวเองว่า เราไม่สามารถพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ได้ เพราะบุคลากรส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องนมแม่ไม่เพียงพอที่จะช่วยแม่ได้ และไม่เห็นความสำคัญของนมแม่มากพอที่จะพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยแม่ให้ได้
อยากรู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้มากพอ เห็นความสำคัญของนมแม่มากพอเป็นอย่างไร ลองไปดูที่ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์หรือคลีนิคนมแม่ รพ เด็กนะคะ
เมื่อทราบว่าบุคลากรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และความสามารถพอที่จะช่วยเหลือ ทำให้พี่ไม่โกรธอีกต่อไป แม้ในใจจะยังเป็นปริศนาดำมืดอยู่ว่า ลูกสองคนแรกคลอดมาปกติ ดูดนมแม่ได้ดี มีข้อบ่งชี้อะไรที่ทำให้ต้องเสริมนมผง
จากความโกรธกลายเป็นความเสียใจและเสียดายแทนบุคลากรหลายๆ ท่านซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ แต่กลับไม่มีความเข้าใจและมองไม่ออกว่าสาเหตุที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้นั้นคืออะไร
บุคลากรเหล่านั้นไม่ว่าจะเลี้ยงลูกตัวเองด้วยนมแม่หรือนมผง ล้วนแล้วแต่ลอยตัวเองออกจากปัญหา ทำเสมือนหนึ่งว่าการที่แม่กว่า 90% ในประเทศนี้ต้องล้มเหลวกับการให้นมแม่นั้น ไม่เกี่ยวกับความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของตนเอง
ไม่เพียงปฎิเสธความรับผิดชอบเท่านั้น แต่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งยังกล่าวโทษบุคลากรที่พยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ว่าเป็นการกระทำที่สุดโต่ง หรือเป็นลัทธิ และยังชี้นำให้สังคมเห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงนั้นก็ #ไม่เป็นไร ขอให้คุณแม่ทุกท่านใช้นมผงเลี้ยงลูกได้อย่างสบายใจ
เพื่อความสบายใจของทุกคนที่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่จึงเลี่ยงที่จะพูดถึงความจริงเหล่านี้
---------------------------------------------------------
#นมผงและอาหารทดแทนนมแม่
มีคุณค่าอาหารน้อยกว่านมแม่และย่อยยากกว่า
ไม่มีสารภูมิต้านทานที่จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันและต่อสู้กับโรคต่างๆให้กับทารก
เมื่อแม่ให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แก่ทารกทำให้ทารกได้รับนมแม่น้อยลงหรือไม่ได้รับนมแม่เลย นั่นหมายความว่า ทารกจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะ
> ท้องเสีย กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ หรือปวดท้อง
> ติดเชื้อระบบทางเดินทางใจ
> ติดเชื้อในหู โรคผิวหนัง และเสียชีวิตเฉียบพลัน (SIDS)
> เติบโตช้าและมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี
> เป็นโรคเรื้อรัง (เบาหวาน หัวใจ หอบหืด และมะเร็งบางชนิด)
> เป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น
> มีคะแนนต่ำในการทดสอบสติปัญญา
-----------------------------------------------------------
แต่กลับพูดว่า ลูกหมอสองคนก็กินนมแม่นิดเดียว คนหนึ่งเป็นหมอ อีกคนได้ทุน เพราะฉะนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวล นมอะไรลูกก็โตได้ ฉลาดได้
คุณแม่ที่จำเป็นต้องใช้นมผงเลี้ยงลูกฟังแล้วอาจจะรู้สึกสบายใจขึ้นในขณะนั้น แต่ลึกๆ ในใจแล้ว สบายใจจริงๆ หรือ?
|
Webmother รำพัน