ปั๊มไฟฟ้า รุ่นไหนดี?
เป็นคำถามยอดนิยมสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังมองหาเครื่องปั๊มนมเพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับลูกน้อย ซึ่งทุกวันนี้มีให้เลือกเป็นร้อยรุ่น อีกทั้งรีวิวมากมายจากเหล่าดารา เซเลบทั้งหลาย ซึ่งก็มีทั้งรีวิวจริง และรีวิวหลอก การจะเลือกเครื่องปัีมนมให้เหมาะสมนั้น คุณแม่ไม่ควรจะเลือกตามรีวิวเป็นหลัก เพราะเครื่องปั๊มนมเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับร่างกาย แต่ละคนมีความแตกต่างกัน เพราะสรีระเต้านม ลักษณะหัวนม รูปทรงโค้งเว้า ความหนาบางของลานนม ความยืดหยุ่นของหัวนม ของแต่ละคนแตกต่างกัน เครื่องที่คนอื่นใช้ดี แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับเรา วิธีที่ดีที่สุดในการเลือกเครื่องปั๊มนม คือ การไปลองด้วยตนเอง และควรได้รับคำแนะนำจากโค้ชนมแม่ ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการใช้เครื่องปั๊ม
นม ต่อไปนี้เป็น 50 ข้อควรรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกเครื่องปั๊มนมค่ะ
-
เครื่องปั๊มนมเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถช่วยชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป การซื้อเครื่องปั๊มนมจากผู้ที่ไม่มีความรู้ อาจทำให้คุณแม่พลาดโอกาสทองที่จะรู้ว่าเครื่องปั๊มนมสามารถช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกได้อย่างไรตั้งแต่แรกคลอด
-
การคลอดก่อนกำหนด ผ่าตัดคลอด การให้น้ำเกลือ และการใช้ยาระงับความเจ็บปวดในระหว่างคลอดล้วนส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดูดเต้าของทารกตั้งแต่แรกคลอด การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี ภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้รู้จริง จะช่วยให้อุปสรรคต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
-
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย มีพังผืดใต้ลิ้น หรือมีปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ จะแรงดูดน้อย ไม่สามารถกระตุ้นเต้านมได้เพียงพอ การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นเต้านมได้ดีกว่า และช่วยให้ทารกได้รับนมแม่มากขึ้น
-
หากต้องการให้นมมาไว มาเยอะ ต้องใช้ 3 ด คือดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี หากต้องการปั๊มนมเก่งๆ ปั๊มได้เยอะๆ ก็ต้องใช้ 3 ป คือปั๊มเร็ว ปั๊มบ่อย ปั๊มด้วยเครื่องดีๆ อย่างถูกวิธี
-
การปั๊มนมในวันแรกๆ นั้น ไม่ได้หวังผลในเรื่องของปริมาณน้ำนม แต่เป็นการปั๊มเพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายรับรู้ว่ามีความต้องการ
-
Colostrum หรือหัวน้ำนมจะมีลักษณะข้น เหนียว ปริมาณน้อยนิดแต่คุณค่ามหาศาล เครื่องปั๊มอย่างเดียว ไม่สามารถเอาออกได้ ต้องใช้การบีบมือร่วมด้วย
-
หากนมในเต้ามีน้อย การดูดอย่างมีประสิทธิภาพของลูก จะช่วยระบายน้ำนมออกได้ดีกว่าเครื่องปั๊ม แต่หากในเต้านมมีมาก การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีอย่างถูกวิธีจะช่วยระบายน้ำนมออกได้มากกว่าลูก เพราะลูกจะดูดแค่อิ่ม ถ้านมยังเหลือเยอะ ก็จะค้างอยู่ในเต้า
-
การให้ลูกดูดเต้าหรือการปั๊มนมนั้นเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุข ไม่ใช่กิจกรรมฝึกความอดทนของคนเป็นแม่ หากคุณแม่เจ็บตอนที่ลูกดูด หรือใช้เครื่องปั๊มนมแล้วเจ็บ แสดงว่าทำผิดวิธี ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์
-
ไม่มีเครื่องปั๊มนมรุ่นเทพที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่น เหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้ดีไซน์เนอร์แบรนด์ดังเป็นคนออกแบบชุด ก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนใส่แล้วสวยเหมือนกัน เครื่องปั๊มนมก็เช่นกัน การที่เพื่อนเราใช้ดีและแนะนำ ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ได้ผลเหมือนเพื่อน
-
หัวนม ลานนม เต้านม รูปทรง ความโค้งเว้า รวมทั้งความยืดหยุ่นของผิวหนังที่สามารถทนทานต่อแรงดูด ดึง กระแทกของเครื่องปั๊มนม เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกเครื่องปั๊มนม
-
ต่อให้เรามีเครื่องปั๊มนมที่ดีและเหมาะสมแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะปั๊มนมได้เยอะ หากไม่รู้วิธีการปั๊มนมที่ถูกต้อง
-
การเลือกเครื่องปั๊มนมผิด ไม่ได้เสียแค่เงิน แต่เสียทั้งเวลาและโอกาสในการกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้ลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนย้อนกลับมาแก้ไขไม่ได้
-
หากไม่สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้เพียงพอได้ภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด มีโอกาสที่จะทำให้ไม่มีน้ำนมเพียงพอได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นหากลูกไม่สามารถดูดเต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ คุณแม่ไม่ควรใช้เวลาเกิน 2 สัปดาห์ในการค้นหาเครื่องปั๊มนมที่เหมาะสมและเรียนรู้วิธีการปั๊มนมที่ถูกต้อง
-
วิธีที่จะรู้ว่าเครื่องปั๊มนมรุ่นไหนดีที่สุดก็คือ การทดลองด้วยตนเอง ถ้าไม่สะดวกไปลอง ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะผิดพลาด ถ้าไปลองไม่ได้ แทนที่จะถามคนอื่นว่ารุ่นนี้ใช้ดีไหม ควรถามผู้ขายรุ่นที่เราสนใจว่า ถ้าซื้อมาแล้วใช้ไม่ดี หรือใช้ไม่ได้ ผู้ขายจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
-
ราคาของเครื่องปั๊มนมไม่ได้แปรผันตรงกับคุณภาพของเครื่องปั๊มนมเสมอไป เครื่องปั๊มนมราคาแพงกว่าไม่ได้หมายความว่าคุณภาพดีกว่า แต่เครื่องปั๊มนมราคาถูก คุณภาพมักจะตามราคา อย่ามองหาของดีราคาถูก แต่ให้มองหาของดีที่ราคาสมเหตุผล
-
ถ้าคิดว่าเครื่องปั๊มนมราคาแพง ให้คิดถึงค่านมผงที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน หากไม่มีนมแม่ให้ลูกกิน
-
เครื่องปั๊มนมที่ราคาแพงที่สุด (ประมาณ 20,000) หากใช้ปั๊มนมให้ลูกกินได้ครบ 12 เดือน ก็ยังถูกกว่าการจ่ายเงินซื้อนมผงราคาถูกที่สุดเป็นเวลา 12 เดือน (ประมาณ 48,000)
-
เครื่องปั๊มนมไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของทั้งลูกและแม่ แต่ทุกการลงทุนก็มีความเสี่ยง จะซื้อเครื่องปั๊มนมรุ่นไหน จากใคร กรุณาศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจ
-
หากสนใจเครื่องปั๊มนมรุ่นไหน แทนที่จะหารีวิวข้อดี ให้ลองหารีวิวข้อเสียดู เพราะข้อเสียต่างหากที่จะทำให้เราซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ และเสียเงินเปล่า เมื่อทราบข้อเสียแล้ว ให้นำข้อเสียนั้นไปถามผู้ขายว่า ข้อเสียแบบนี้เกิดจากอะไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่ คำตอบของผู้ขายจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรจะซื้อหรือไม่
-
การใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับคนนมเยอะ และนมน้อยนั้นมีวิธีการใช้ต่างกัน
-
เครื่องปั๊มนมก็เหมือนอุปกรณ์กีฬาหรือเครื่องดนตรี เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมกับร่างกายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี ไม่เหมือนเครื่องนึ่งขวดนมหรือหม้อหุงข้าว ที่ทำงานเองเป็นอิสระ การจะปั๊มนมได้เก่ง ได้เยอะ ร่างกายก็ต้องทำงานประสานกันอย่างดีกับเครื่อง เหมือนนักดนตรีเล่นเครื่องดนตรี ต่อให้เราใช้ไม้กอลฟ์รุ่นเดียวกับไทเกอร์ วู้ด ก็ไม่ได้ทำให้เราตีไกลได้เท่ากับไทเกอร์ในทันที โค้ชนมแม่ก็เหมือนโค้ชกีฬา ถ้าเราเจอคนที่รู้จริง เก่งจริง เขาจะช่วยให้เราใช้ศักยภาพในการผลิตน้ำนมของเราได้เต็มที่
-
การปั๊มนมเป็น skill ที่ต้องฝึกฝนไม่ต่างกับการเล่นดนตรีหรือกีฬา⛷🤸♀️ คนที่มี self learning skill (ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง) สูง ถ้าได้เครื่องทึ่เหมาะสม ก็พอจะใช้ได้ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องยาก อะไรที่เราไม่เก่ง หรือทำไม่ได้ดี เรายังต้องมีคนสอน การปั๊มนมก็เช่นกัน
-
คุณแม่บางคนมีนมเป็นทรัพย์ คือนมเยอะแบบทะลักทลาย โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ หายใจเฉยๆ ก็นมไหล ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเปรียบเทียบปริมาณน้ำนมของเรากับเขา แค่เราปั๊มนมได้เพียงพอสำหรับลูก ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว
-
การที่โค้ชนมแม่ผู้มีประสบการณ์แนะนำให้เตรียมเครื่องปั๊มนมไปโรงพยาบาลนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่มีอะไรจะเสีย เพราะคุณแม่ไม่มีทางรู้ว่าลูกที่คลอดออกมานั้นจะช่วยกระตุ้นเต้านมได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน หากลูกดูดได้ไม่ดี เต้านมจะไม่ผลิตน้ำนม เครื่องปั๊มนมที่มีประสิทธิภาพพร้อมคำแนะนำจากผู้รู้จริงจะช่วยกระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมแทนการดูดของลูก
-
หากคุณแม่ถูกห้ามไม่ให้นำเครื่องปั๊มนมมารพ. ให้ถามผู้ที่ห้ามว่า สามารถรับประกันได้ไหมว่าเขาจะช่วยให้คุณแม่มีนมเพียงพอสำหรับลูกอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องเสริมนมผง คำตอบของเขาจะช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้เองว่าควรทำตามหรือไม่
-
งานวิจัยสำหรับคุณแม่ที่คลอดก่อนกำหนดพบว่า การเริ่มต้นปั๊มนมภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เทียบกับ 6 ชั่วโมงหลังคลอดนั้น ปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ในภายหลังของคุณแม่ที่เริ่มต้นปั๊มได้เร็วนั้น มากกว่าคุณแม่ที่เริ่มปั๊มนมช้าอย่างมีนัยสำคัญ
-
เครื่องปั๊มนมที่คนดังรีวิวนั้น อาจไม่ใช่เครื่องที่เขาใช้จริงๆ
-
เครื่องปั๊มนมที่เหมาะสม คือ ปั๊มแล้วไม่เจ็บ ระบายน้ำนมได้ดี ยิ่งปั๊มบ่อย ปริมาณน้ำนมจะยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ทำให้หัวนมยืด ยาว บวม ถลอก หรือเจ็บแสบหลังปั๊ม
-
เครื่องปั๊มนมคือเครื่องผลิตน้ำนม ช่วยผลิตอาหารสำหรับลูก ไม่ใช่เครื่องทรมานร่างกาย ถ้าทุกครั้งที่ปั๊มนม ต้องทนกับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ให้เปลี่ยนเครื่องปั๊ม และอย่าเลือกตามใคร คำแนะนำจากผู้หวังดีนั้น ไม่ได้หมายความจะได้ดีตามที่หวัง แทนที่จะขอคำแนะนำจากผู้หวังดี ให้เปลี่ยนเป็นขอคำแนะนำจากผู้รู้จริงและผู้เชี่ยวชาญ หากไม่แน่ใจ ก็สามารถตรวจสอบได้จากหลายๆ ที่ เพื่อเป็น second opinion
-
ซื้อเครื่องปั๊มนมจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ก็จะได้เครื่องมือแพทย์ ซื้อเครื่องปั๊มนมจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จะได้เครื่องใช้ไฟฟ้า
-
Label ใต้เครื่องสามารถบอกได้ว่าเครื่องนั้นผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์หรือไม่ (และคาดว่าอีกไม่นาน เมื่อความรู้นี้กระจายทั่ว เราก็จะได้เห็น label ปลอมตามมา) ให้ดูข้อถัดไปเพื่อ cross check คุณภาพของเครื่องปั๊มนมแต่ละยี่ห้อ

-
เวลา search ข้อมูลเพื่อเลือกเครื่องปั๊มนม อย่าค้นแต่ข้อมูลภาษาไทย ลองพิมพ์ยี่ห้อที่สนใจ แล้วตามด้วย USA, UK, EU, Australia, etc. ดูว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาให้การยอมรับยี่ห้อเหล่านั้นหรือไม่
-
แรงดูดเฉลี่ยจากช่องปากของทารกคือ -145+-58 mmHg แรงดูดของเครื่องปั๊มนมตามข้อกำหนดของเครื่องมือแพทย์มาตรฐานยุโรปคือ 250 mmHg เครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูดสูงกว่านี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เต้านมบาดเจ็บ
-
เครื่องปั๊มแรงดูดมากไม่ได้ช่วยให้ปั๊มนมได้มาก แต่จะทำให้บาดเจ็บได้มาก
-
ท่อน้ำนมเป็นท่อบางๆ เหมือนเส้นเลือด การใช้แรงดูดที่มากเกินไป อาจทำลายท่อน้ำนมได้ ลองคิดถึงหลอดบางๆ ที่ถูกดูดจนแบนและดูดไม่ออก ท่อน้ำนมที่เจอแรงดูดแรงๆ ก็ลีบแบนในลักษณะเดียวกัน ทำให้น้ำนมผ่านออกมาไม่ได้
-
ที่มาของคำว่า “โหมดกระตุ้น” นั้นมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Stimulation Mode ซึ่งเกิดจากงานวิจัยของ University of Western Australia (UWA) ที่พบว่าพฤติกรรมการดูดของทารกนั้นเริ่มจากการดูดเร็วๆ แผ่วๆ ในช่วง 2-3 นาทีแรกเพื่อกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนม (let down reflex) หลังจากน้ำนมเริ่มไหล การดูดของทารกจะเปลี่ยนเป็นดูดและกลืน ทำให้จังหวะการดูดนั้นยาวขึ้นในช่วงหลัง
-
โหมดรีดเต้า เป็นศัพท์เทคนิคทางการตลาด (เวอร์ชั่นแรก) ที่ไม่สามารถรีดเต้าได้จริง แต่สร้างความบาดเจ็บให้กับเต้านมได้จริงๆ การทำงานของโหมดรีดเต้าคือ ใช้แรงดูดสูงๆ พร้อมกับจังหวะการดูดที่ยาวนานกว่าปกติ นั่นหมายความว่า หัวนมและเต้านมจะถูกดึงด้วยความรุนแรงค้างเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของความบาดเจ็บ ไม่มีทารกคนใดดูดเต้าแม่ด้วยพฤติกรรมเช่นนั้น
-
โหมดสลายก้อน เป็นศัพท์เทคนิคทางการตลาด (เวอร์ชั่นสอง) ที่ไม่สามารถสลายก้อนได้จริงๆ เช่นกัน ก้อนในเต้านมเกิดจากไขมันในน้ำนมสะสมกันเป็นตะกอน เนื่องจากการระบายน้ำนมออกได้ไม่ดี ก้อนเหล่านี้สลายได้ด้วยการนวด บีบด้วยมือ จากผู้มีประสบการณ์ และ/หรือ ร่วมกับเครื่องปั๊มนมที่มีประสิทธิภาพและการดูดของลูก
-
สองมอเตอร์ เป็น Marketing Tactic ที่ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเครื่องปั๊มนมที่ดี หรือช่วยให้ปั๊มนมได้เยอะอย่างที่เข้าใจ ย้อนกลับไปดูข้อ 23 เรื่องแรงดูดช่องปากทารกอีกรอบ มอเตอร์เดียวก็ให้แรงดูดที่มากเกินพอแล้ว #ย้ำอีกครั้ง ยิ่งแรงดูดมาก ยิ่งสร้างความบาดเจ็บให้กับเต้านมได้มาก
-
ด้วยสถานการณ์ปกติ เต้านมเราตอบสนองกับแรงดูดและความสบายที่เหมือนกัน ถ้าแรงดูด x ทำให้เต้าซ้ายสบาย ก็จะทำให้เต้าขวาสบายเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องแยกมอเตอร์ การที่ข้างซ้ายและขวาให้แรงดูดที่ไม่เท่ากัน มีโอกาสผิดพลาดที่เราจะสวมกรวยปั๊มผิดข้าง กลายเป็นใช้แรงดูดมากกับข้างที่เจ็บ และจะยิ่งทำให้เจ็บมากขึ้น ถ้าเต้านมข้างนึงบาดเจ็บ ควรแก้ปัญหาด้วยการหยุดปั๊มข้างที่เจ็บเพื่อรักษา ไม่ใช่ปั๊มด้วยแรงดูดที่ต่างกันของ 2 มอเตอร์
-
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปั๊มนมได้มากอันดับหนึ่งไม่ใช่เครื่องปั๊มนม แต่คือ อารมณ์และความรู้สึก หากมีความรู้สึกสบายใจ สงบ ผ่อนคลาย จะช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin หลั่งได้ดี น้ำนมจะไหลดี หากมีความเครียด ความกังวลมากในขณะปั๊มนม ต่อให้ในเต้ามีน้ำนมมากแค่ไหน ก็ปั๊มออกได้ยาก
-
การเปลี่ยนกรวยปั๊มไม่ได้ทำให้น้ำนมเยอะขึ้นทันที แต่ขนาดของกรวยปั๊มที่เหมาะสม จะช่วยทำให้การปั๊มนมสบายขึ้น เมื่อรู้สึกสบาย จะทำให้จะช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin หลั่งได้ดี น้ำนมจะไหลดีตามมา ถ้าสาเหตุของนมน้อยจากการเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนกรวยปั๊มอย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้
-
ซิลิโคนครอบกรวยปั๊มไม่ใช่ชิ้นส่วนที่จำเป็น อาจเป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ บางคนไม่ใช้ซิลิโคนดีกว่า แต่สำหรับบางคนที่มีเต้านม หัวนมลักษณะพิเศษ การใช้ซิลิโคนครอบกรวยปั๊มสามารถช่วยให้การปั๊มนมมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โค้ชนมแม่ผู้รู้จริงจะช่วยให้คำแนะนำที่ดีได้
-
ไม่มีบทเรียนเรื่องการใช้เครื่องปั๊มนมในหลักสูตรสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรที่มีความรู้และสามารถให้คำแนะนำในการใช้เครื่องปั๊มนมที่ถูกต้องได้นั้นพอมี แต่หาไม่ได้ง่ายนัก แม้แต่ในคลินิกนมแม่เอง หากมีปัญหาในการใช้เครื่องปั๊มนม ให้เริ่มจากการสอบถามผู้ขายก่อน เพราะอย่างน้อยเขาก็ควรได้รับการอบรมจากผู้ผลิตโดยตรง
-
กรวยซิลิโคนหรือกรวยนิ่มเป็นการมโนของโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าบางแห่ง ที่คิดว่ากรวยนิ่มๆ นั้นนุ่มนวลกับเต้านม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรวยซิลิโคนกลับสร้างความบาดเจ็บได้มากยิ่งขึ้น เพราะความนิ่มของซิลิโคน ทำให้กรวยแนบติดกับเนื้อเต้านมเมื่อเจอแรงดูดที่แรงของเครื่อง จะดูดเอาเนื้อเต้านมเข้าไปเต็มที่ ทำให้บาดเจ็บรุนแรงกว่ากรวยปกติ
-
อาการบาดเจ็บจากการปั๊มนมส่วนใหญ่ เกิดจากระบบปฏิบัติการของเครื่องปั๊มนม คือ แรงดูด ดึง กระชากของเครื่องที่กระทำต่อเต้านมมากกว่าเกิดจากกรวยปั๊ม การเปลี่ยนกรวยปั๊มเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ช่วย
-
เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นมีเทคนิคและวิธีการใช้งานต่างกัน คุณแม่แต่ละคนก็มีข้อจำกัดของร่างกาย จิตใจ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมภายในครอบครัวไม่เหมือนกัน โค้ชนมแม่ที่รู้จริงจะช่วยสอนและแก้ไขปัญหาให้คุณแม่แต่ละคนได้
-
เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นได้รับการออกแบบมาเฉพาะ การใช้อุปกรณ์เช่น กรวยปั๊ม หรือแฮนด์ฟรีที่ไม่ได้เป็นของผู้ผลิตเองโดยตรง อาจทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องปั๊มนั้นลดลง และหากเกิดความเสียหาย มักไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน
-
Power Pumping เป็นการเลียนแบบช่วงเวลา Growth Spurt ของทารกที่มีความต้องการน้ำนมเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้ดูดบ่อยขึ้น ทุก ½-1 ชม. แทนทุก 2-3 ชม. การปั๊มนมด้วยเทคนิค Power Pumping นั้น หากเป็นเครื่องปั๊มนมที่แรงดูดกระชากรุนแรง จะทำให้เต้านมบาดเจ็บมากขึ้น เพราะเต้านมถูกกระทำซ้ำๆ โดยไม่มีเวลาให้พัก หากไม่มีความเข้าใจในการทำ แทนที่นมจะเพิ่ม กลับจะทำให้นมลดแทน
-
ปั๊มนมได้เยอะแค่ไหนก็ให้ความสุขไม่ได้เท่ากับการกอดลูกเข้าเต้า แต่เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ก็ขอให้ภูมิใจกับสิ่งที่คุณแม่ทำได้เพื่อลูก