
อาหารเสริมของเด็ก ข้อมูลที่ไม่อยู่ในการโฆษณา ![]() ผศ.พ.ญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ -------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ – ผศ.พ.ญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ ทำงานอยู่ที่หน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ได้พบเห็นว่ามีการลงโฆษณาอาหารเสริมชนิดหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์มติชน อ้างถึงสรรพคุณเกินจริง ในฐานะนักวิชาการจึงได้นำเสนอบทความนี้ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อประชาชน "มติชน" จึงนำเสนอดังนี้ ในปัจจุบันอาหารเสริม เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนไทยมากขึ้น มีอาหารบางชนิดที่อ้างว่า มีผลต่อพัฒนาการของสมองเด็ก พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตและมีพัฒนาการที่ดี มีความสามารถทัดเทียมและแข่งขันกับลูกคนอื่นได้ จึงจ่ายเงินไปกับสิ่งที่หลงเชื่อว่าดีตามการโฆษณา อย่างไม่รู้เท่าทัน ผู้เขียนมีความเห็นว่า โฆษณาดังกล่าว อ้างถึงสรรพคุณของอาหารเสริมชนิดนี้เกินจริง และการใช้เอกสารอ้างอิงซึ่งเป็นผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในการโฆษณา ยังอาจทำให้บุคลากรทางแพทย์จำนวนหนึ่ง เกิดความเข้าใจผิดได้ จึงคิดว่าประชาชนทั่วไป ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง พ่อแม่จำนวนมากในปัจจุบัน ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นจากสื่อต่างๆ และมีเด็กวัยเรียนที่เป็นโรคนี้จำนวนไม่น้อย กำลังได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ จากสถิติในต่างประเทศพบว่า มีเด็กนักเรียนเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 5 เด็กที่เป็นโรคเหล่านี้ มักจะซนมาก เปลี่ยนความสนใจง่าย หุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยยับยั้งชั่งใจ ในต่างประเทศ พบปัญหาการเรียนผิดปกติในเด็กวัยเรียนประมาณร้อยละ 5-10 ในประเทศไทย แม้จะไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนเด็ก ที่พ่อแม่ไปพบจิตแพทย์ หรือกุมารแพทย์ ด้วยปัญหาการเรียน พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากความผิดปกติสองชนิดนี้ ปัจจุบันทางการแพทย์ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น หรือการเรียนผิดปกติได้ แต่มีหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่าโรคทั้งสองนี้ น่าจะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานบางส่วนของสมอง แต่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความผิดปกตินี้ อาจเป็นที่ระดับสารเคมีในสมอง หรือจากพัฒนาการของเซลล์ในสมองที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่มีอาการชัดเจน บางคนสามารถดีขึ้นเมื่อให้ยารักษา ส่วนเด็กที่มีการเรียนผิดปกติ ถ้าให้การศึกษาที่เหมาะกับระดับความสามารถของเด็ก ก็สามารถช่วยเหลือเด็กให้ดีขึ้นได้ ผู้เขียนเคยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ให้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ ปัจจัยทางชีวภาพที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก พบว่า ในระยะหลังมีการศึกษาค้นคว้ามากขึ้น เกี่ยวกับการวิจัยกรดไขมันจำเป็นสำหรับร่างกายต่อพัฒนาการสมองในเด็ก สารดังกล่าว เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ประสาทจำนวนมาก และเด็กที่เกิดก่อนกำหนด เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดกรดไขมันดังกล่าว แต่เดิมนมผงดัดแปลงสำหรับทารก มีกรดไขมันชนิดนี้ต่ำกว่านมแม่ ทำให้มีการวิจัย โดยการให้กรดไขมันจำเป็นเสริมให้ทั้งในเด็กปกติ และเกิดก่อนกำหนด และติดตามทดสอบระดับพัฒนาการ ผลแสดงให้เห็นแนวโน้มว่า กรดไขมันจำเป็นอาจจะส่งผลทำให้ระดับพัฒนาการดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน เนื่องจากยังติดตามเด็กไม่นานพอ รวมทั้งไม่มีการควบคุมปัจจัยอื่นที่มีผลต่อพัฒนาการเด็กได้ด้วย มีผู้พยายามจะศึกษาผลของกรดไขมันจำเป็น ต่อกลุ่มโรคสมาธิสั้น หรือการเรียนผิดปกติตามที่มีการอ้างอิงในโฆษณาจริง แต่จากการศึกษาเหล่านั้นสรุปได้เพียงว่า กรดไขมันจำเป็นเหล่านี้ อาจมีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กเหล่านี้บ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า "ได้ผล" เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง ในมาตรฐานสากล ก่อนที่จะมีการยอมรับการค้นพบใหม่ใดๆ ต้องผ่านการวิจัยที่วางแผนอย่างดี และสามารถทำให้เกิดผลซ้ำได้ไม่ว่าจะทำโดยนักวิจัยจากที่ใดๆ ก็ตาม จึงจะเชื่อได้ว่าเป็นจริง ในกรณีของกรดไขมันจำเป็น ต่อเด็กที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้น ยังได้รับการศึกษาอยู่น้อยมาก และไม่ใช่ทุกคนที่ศึกษาได้ ข้อสรุปตรงกับที่มีอ้างอิงในโฆษณา ผู้วิจัยเกือบทั้งหมดจะสรุปไว้ว่า งานนี้ยังต้องการศึกษายืนยันเพิ่มเติม จึงอาจกล่าวได้ว่า การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณชิ้นนี้เกินเลยจากข้อเท็จจริงมาก หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจสอบโฆษณาควรศึกษาให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าจะกล่าวถึง สารอาหารที่มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ ภาวะทุพโภชนาการ การขาดธาตุเหล็กการขาดไอโอดีน การขาดไอโอดีนเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อ พัฒนาการของเด็กรุนแรงมากที่สุด การขาดอาหารหรือธาตุเหล็ก ถึงแม้ว่าอาจทำให้พัฒนาการด้อยลงไปบ้าง แต่มักจะดีขึ้นภายหลังได้รับการรักษา ส่วนการขาดไอโอดีนโดยเฉพาะ ถ้าขาดตั้งแต่ระยะมารดาตั้งครรภ์ หรือช่วงแรกของชีวิต สมองเด็กจะเสียหายอย่างถาวร ซึ่งถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงจะทำให้เด็กปัญญาอ่อนมากหรือเห็นเป็นลักษณะที่เรียกว่า "เอ๋อ" ถ้าขาดไม่รุนแรง จากลักษณะภายนอกอาจดูไม่ออกว่าเด็กผิดปกติ แต่ระดับสติปัญญาจะต่ำกว่าปกติชัดเจน แม้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนของประเทศไทยจะพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เคยมีรายงานการขาดไอโอดีนในหลายจังหวัดของภาคต่างๆ รวมทั้งภาคใต้ ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดไอโอดีน แต่แม้จะเสริมไอโอดีนในแหล่งอาหาร ก็เคยมีงานวิจัยพบว่า ประชาชนในบางพื้นที่ ไม่นิยมการบริโภคเกลือไอโอดีน หรือยังบริโภคไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละครัวเรือน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับไอโอดีนอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากไอโอดีน พบมากในอาหารทะเล และกรดไขมันจำเป็น ที่กล่าวมาในตอนต้น มีมากในปลาทะเล พ่อแม่ที่ต้องการส่งเสริพัฒนาการสมองของลูก ควรเลือกบริโภคปลาทะเลแทนการใช้อาหารเสริม เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่ามากแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารเพราะเป็นแหล่งของโปรตีน สารไอโอดีน รวมทั้งอิ่มอร่อยอีกด้วย ส่วนแม่ก็ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ยังมีประโยชน์ในเรื่องให้ภูมิต้านทานโรคแก่ลูก ลดโอกาสเกิดปัญหาภูมิแพ้ในลูก และนมแม่มีกรดไขมันจำเป็นในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาการของเด็ก ทั้งหมดนี้เป็นสรรพคุณที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าแล้วทั้งสิ้น [ ที่มา...หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2541 ] |