โครงการประชากรสุขภาพดี ปี 2010 ขณะนี้ทางสหรัฐอเมริกาเขามีโครงการ Healthy People 2010 ถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงจะเป็น "โครงการประชากรสุขภาพดี ปี 2010" แล้วหนึ่งในเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ รณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยหวังว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากร้อยละ 64 ในปี 1998 เป็นร้อยละ 75 ในปี 2010 กิจกรรมต่างๆ ที่จะทำเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้ชาวอเมริกันนั้น เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 1979 และโครงการใหม่นี้ก็ตั้งอยู่บนฐานของผลการทำโครงการในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา เป้าหมายของโครงการ Healthy People 2010 ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ของคุณแม่หลังคลอดจากร้อยละ 64 ในปี 1998 เป็นร้อยละ 75 ในปี 2010 ยังเพิ่มอัตราของแม่ที่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน จากร้อยละ 29 ในปี 1998 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2010 ทั้งยังหวังจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อลูกอายุครบปี จากร้อยละ 16 ในปี 1998 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2010 รายงานของโครงการนี้ได้จำแนกแม่ที่ให้นมลูกตามเชื้อชาติ (ตัวเลขในปี 1998) ว่า ร้อยละ 45 ของคุณแม่ชาวอเมริกันผิวดำจะให้นมลูกตั้งแต่แรกคลอดถึง 6 เดือน พอ 6 เดือนลดเหลือร้อยละ 19 และเหลือร้อยละ 9 เมื่อลูกอายุครบปี ส่วนคุณแม่ผิวขาวนั้น ร้อยละ 68 ให้นมแม่แก่ลูกตั้งแต่แรกคลอดถึง 6 เดือน พอ 6 เดือนลดเหลือร้อยละ 31 และเหลือร้อยละ 17 เมื่อลูกอายุครบปี และร้อยละ 66 ของคุณแม่เชื้อสายสเปนหรือลาติน จะให้นมแม่ตั้งแต่แรกคลอดถึง 6 เดือน พอ 6 เดือน ลดเหลือร้อยละ 28 และเหลือร้อยละ 19 เมื่อลูกอายุครบปี สรุปคือแม่ผิวขาวมีอัตราการให้นมลูกสูงกว่าแม่ผิวสี ถ้าหากจะจำแนกตามระดับการศึกษา รายงานก็มีตัวเลขให้เหมือนกัน (ตัวเลขยังคงเป็นของปี 1998) คือ แม่ที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมปลายจะให้นมลูกกันน้อยที่สุด คือ 48% ถ้าจบมัธยมก็เป็น 55% ซึ่งเท่ากับที่จบทางสายอาชีพ ถ้าจบระดับอุดมศึกษาจะเพิ่มเป็น 78% นี่คือแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตั้งแต่คลอดถึงลูกวัย 6 เดือน เมื่อลูกโตขึ้นก็ลดลงเรื่อยๆ
ปัจจุบันได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่านมแม่ให้สารอาหารที่ครบถ้วนที่สุดสำหรับทารก ซึ่งจะสร้างทั้งสุขภาพ การเจริญเติบโต ภูมิต้านทาน และพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งยังช่วยลดอาการท้องเดินหรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ติดเชื้อในหู ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ต้องจ่ายเพื่อการรักษาไปได้มาก นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยในการสร้างสุขภาพของแม่ด้วย ทั้งลดการตกเลือดหลังคลอด ทำให้น้ำหนักลดลงเร็วขึ้น ลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน สรุปคือ นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเป็นคุณต่อแม่เอง แต่ในสหรัฐฯ จะไม่แนะนำว่าแม่ทุกคนควรให้นมลูกด้วยตัวเอง เช่น แม่ที่ติดยาเสพติด แม่ที่ป่วยด้วยวัณโรคที่รักษาไม่หาย หรือแม่ที่ติดเชื้อ HIV รวมทั้งแม่ที่ต้องใช้ยาบางประเภทก็ไม่ควรให้นมลูก อย่างไรก็ตาม ทางการมีเป้าที่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในกลุ่มแม่ผู้มีรายได้น้อย แม่ที่มีผิวสี หรือชนกลุ่มน้อย อย่างน้อยก็ให้เริ่มตั้งแต่แรกคลอดจนลูกอายุครบปี กลุ่มแม่ที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไป และแม่ที่มีอายุเกิน 35 ปี จะเป็นกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากที่สุด แม่ที่อายุน้อยกว่า 21 ปี แม่ที่การศึกษาไม่สูงจะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ และพบว่าทารกที่เกิดจากแม่กลุ่มนี้มีสุขภาพไม่ดีและพัฒนาการช้าในอัตราสูง แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแม่กลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1989 อัตราการให้นมแม่ของแม่ชาวอเมริกันผิวดำที่ให้นมลูกช่วงแรกคลอดนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 และที่ให้นมลูกหลังหกเดือนก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 1997 การให้นมแม่ของแม่วัยต่ำกว่า 20 ปีก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การพัฒนานี้เป็นเรื่องน่ายินดี ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่คุณแม่มือใหม่และคุณพ่อด้วย ต้องให้การศึกษาในเรื่องนี้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องมีการปรับเปลี่ยนการดูแลในหอผู้ป่วยแม่และเด็ก ทั้งต้องการการสนับสนุนทางสังคม จากนายจ้าง และการช่วยรณรงค์ของสื่อต่างๆ ด้วย
|