
นมแม่กับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีมาตรการอยู่ 2 อย่างที่ทุกโรงพยาบาลควรได้ปฏิบัติทันทีหลังจากที่แม่ให้กำเนิดลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งหากไม่ได้ทำอาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการให้นมแม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวคุณแม่มีความตั้งใจจะให้นมแม่ตั้งแต่แรก
มาตรการแรก คือ การให้ทารกแรกคลอดได้สัมผัสเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) กับแม่ทันทีหลังคลอด โดยไม่จำกัดมาตรการนี้ให้ใช้แต่กับทารกที่คลอดก่อนกำหนดเท่านั้น แต่ทำกับทุกการคลอดและทุกๆ ทารกเลย
เพราะแม้แต่ทารกที่มีอาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนอกครรภ์ได้ไม่ดี ก็ยังมีลักษณะที่ดีขึ้นเมื่อได้ให้สัมผัสกับร่างกายแม่แบบเนื้อแนบเนื้อ ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าทารกที่ได้รับการสัมผัสกับแม่แบบเนื้อแนบเนื้อจะรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับการสัมผัส และดีกว่าทารกที่อยู่ในตู้อบ นอกจากนี้ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และความดันโลหิตก็อยู่ในสภาวะคงที่กว่าด้วยเช่นกัน ดังนั้น ควรจะให้ทารกได้สัมผัสเนื้อแนบเนื้อ (โดยไม่ห่อตัว) กับแม่ทันทีภายหลังคลอดหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงในทุุกโรงพยาบาล
นอกจากนี้ การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดจะทำให้ลูกได้เริ่มเข้าเต้าและกินนมแม่ทันทีหลังคลอด ซึ่งน้ำนมแม่จะสามารถช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ลูกได้ดีกว่าน้ำนมผสม
มาตรการที่สอง คือ แม่ทุกคนควรได้รับการสอนและแนะนำว่าจะดูอย่างไรว่าทารกได้รับนมจากเต้า ดูดนมจากเต้าได้ดีหรือไม่ ถ้าหากว่าทารกดูดนมจากเต้าได้ดี คุณแม่ควรจะได้รับคำแนะนำที่ทำให้มั่นใจในการให้นมแม่จากเต้าต่อไป แต่ถ้าหากว่าทารกดูดนมจากเต้าได้ไม่ดี สิ่งแรกที่ต้องช่วยคุณแม่คือ ช่วยให้การเข้าเต้าเป็นไปได้ดีขึ้น และช่วยให้ทารกได้นมจากการดูดเต้าให้มากขึ้น
"ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ" เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่จะเป็นเหตุผลให้ลูกถูกนำไปป้อนนมผสมหลังจากคลอดไม่กี่วัน แต่ว่าทารกหลายคนถูกทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร จึงทำให้ต้องได้รับนมผสมอย่างไม่จำเป็นเลย
1. การเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในทารกทุกๆ คนที่เกิดมา เป็นตัวอย่างหนึ่งของมาตรการที่ทำเพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้อง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลต่อพ่อแม่ขึ้น (อย่างไม่จำเป็น) และทำให้ทารกได้รับการรักษา (ที่ไม่จำเป็นแต่อย่างใด) หลายๆ โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามีมาตรการนี้ และที่แคนาดาเองก็เริ่มทำกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว หลายคนอาจดูแต่ตัวเลขแล้วก็ชี้ว่าค่านี้ไม่ปกติ จึงเริ่มให้นมผสมแก่ทารกเลย
2. ซึ่งในความเป็นจริง ยังไม่มีข้อกำหนดและข้อตกลงชัดเจนว่า ค่าระดับน้ำตาลในเลือดเท่าใดจึงจะถือว่าต่ำกว่าปกติในทารกแรกเกิด
3. ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกแรกเกิดจะค่อนข้างใกล้เคียงกับของแม่ และใน 1-2 ชั่วโมงต่อมาจะลดต่ำลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติ (ดูในกราฟประกอบ) โดยหลังจากนั้นอีก 1-2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลก็จะสูงกลับขึ้นมาอีกท้ังๆ ที่ทารกยังไม่ได้กินอะไรเลย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ด้วยไม่ใช่แต่กับเฉพาะทารกของมนุษย์ การจะให้การรักษาภาวะ "ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ" ตอนนี้ก็เท่ากับว่าร้กษาอาการ "ปกติ" ของทารกมนุุษย์ ดังนั้น การที่แพทย์สั่งให้นมผสมแก่ทารกเหล่านี้จึงเป็นการเสริมนมโดยไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
![]() ในกราฟนี้ไม่มีหน่วยวัด ทำให้แพทย์หลายคนเกิดความลังเลสงสัย แต่สามารถสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากการศึกษาตั้งแต่ปี 1986, 2000 และบทความจาก Dr. Jane Hawdon ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเขียนไว้ว่า
"ทารกแทบทุกคนจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดตกลงหลังจากคลอด และค่อยๆ กลับฟื้นขึ้นมาภายใน 12 ชั่วโมง แต่ก็เหมือนกับภาวะหลังคลอดอื่นๆ ของทารกที่ต้องปรับตัว (กับสภาพภายนอกครรภ์) โดยร่างกายของทารกจะปรับใช้แหล่งพลังงานจากที่อื่นมาทดแทนน้ำตาลกลูโคสที่ต่ำลง ดังนั้น ในทารกที่แข็งแรง จึงไม่น่าจะมีปัญหาจากการขาดน้ำตาลในสมองแต่อย่างใด"
4. การให้ทารกได้สัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับแม่จะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการที่แยกแม่กับลูกจากกัน และยังเพิ่มโอกาสที่จะให้ทารกได้ฝึกกินนมจากเต้าเองด้วย
5. หัวน้ำนมเหลืองหรือคอลอสตรัมจากนมแม่เองเป็นน้ำนมที่ยอดเยี่ยมที่สุด ส่วนน้ำนมบริจาคจากคลังของโรงพยาบาล ก็เป็นทางเลือกอันดับถัดไปที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด ทั้งนี้เป็นเพราะว่าน้ำนมแม่ไม่สามารถกระตุ้นการสร้างอินซูลิน (แตกต่างจากนมผสมที่กระตุ้นได้)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงแนะนำให้แม่ตั้งครรภ์ที่ทราบว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเริ่มบีบเก็บน้ำนมตั้งแต่ช่วงระยะครรภ์ 35-36 สัปดาห์ เพื่อที่กรณีที่ทารกเกิดมาแล้วมีความจำเป็นต้องเสริมนม ก็จะได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่แทนที่จะได้นมผสม
![]() ไม่มีหลักฐานวิจัยใดยืนยันว่าการบีบเก็บน้ำนมด้วยมือในระยะนี้เพิ่มความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ในภาพ เป็นปริมาณน้ำนมเหลืองที่คุณแม่ท่านหนึ่งบีบเก็บได้ก่อนคลอดทารก
6. มีหลักฐานยืนยันว่าทารกที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ได้รับการกินนมแม่จากเต้าทันทีหลังคลอด จะมีโอกาสแสดงอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้น้อยกว่าทารกที่ได้รับนมผสมเป็นมื้อแรกของชีวิต
7. ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าทารกที่เกิดมาตัวใหญ่ (บางโรงพยาบาลให้ค่าไว้ที่ 4 กิโลกรัมหรือมากกว่า) จะมีความเสี่ยงว่าเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำถ้าหากว่าคุณแม่เองไม่ได้เป็นเบาหวาน ในทางตรงกันข้าม ทารกเหล่านี้เสี่ยงจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำได้น้อยกว่าทารกอื่นเพราะร่างกายมีไขมันมากพอที่จะถูกย่อยสลายเป็นสารประกอบที่เรียกว่า ketone bodies
8. Ketone bodies สามารถป้องกันสมองของทารกจากภยันตรายที่เกิดจากการมีน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยพบว่าในทารกที่ได้รับนมแม่ (หรือได้รับน้ำนมเหลือง) จะมีความเข้มข้นของ ketone bodies ในเลือดสูงกว่าในทารกที่ได้รับการป้อนนมผสม
9. ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ทารกที่มีความเสี่ยงจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ได้แก่ ทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 และ 2) จะต้องเข้ารับการรักษาพิเศษที่โรงพยาบาล แต่ทารกเหล่านี้ควรที่จะได้อยูู่กับแม่ ได้เข้าเต้าตามต้องการ และได้รับความช่วยเหลือจากพยาบาลและแพทย์ให้เข้าเต้าได้ดีเมื่อหลังคลอด หากจำเป็นต้องเสริมนม สามารถใช้นมที่เก็บไว้ตั้งแต่ก่อนคลอดมาป้อนด้วยช้อน ไซริงจ์ หรือสายเสริมนมที่เต้านมได้ (มีบทความอ้างอิง)
10. ข้อสุดท้าย ..มีปัญหาเรื่องความกังวลเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดของทารกแรกเกิดมากเกินไป ทำให้ให้การรักษาด้วยการป้อนนมผสมด้วยขวดอย่างไม่จำเป็นเมื่อหลังคลอด มีคุณแม่ท่านหนึ่งที่ได้ปรึกษากับผม ว่าลูกน้อยที่เพิ่งคลอดต้องเข้าอยู่หอวิกฤติสำหรับทารก (NICU) เพราะว่าได้รับการเจาะเลือดภายในเวลาไม่นานหลังคลอดแล้วพบว่าน้ำตาลตกลง (ซึ่งพบได้เป็นปกติ) ลููกของคุณแม่ท่านนี้ต้องถูกเจาะหลอดเลือดเพื่อรับน้ำตาลและป้อนด้วยนมผสม คุณแม่ต้องไปปั๊มนมเพื่อจะได้มีนมมาป้อนลูก และกระตุ้นการสร้างน้ำนมไม่ให้หดหายไป ลูกน้อยต้องอยู่ใน NICU หลายวัน เสียเงินไปมากมาย (แม้จะเป็นเงินรัฐบาลช่วยเหลือ) ทั้งนี้เพราะการเจาะเลือดดูน้ำตาลหลังคลอดที่ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะทารกรายนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงว่าจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
แปลจาก Breastfeeding and Low Blood Sugar By Dr. Jack Newman โดย ดร.เปี่ยมกมล วัชโรทยางกูร http://ibconline.ca/low-blood-sugar/ |
ความรู้เรื่องนมแม่