นมปั๊มกลางวัน กินกลางวัน นมปั๊มกลางคืน กินกลางคืน ใช่หรือไม่ นมปั๊มกลางวัน กินกลางวัน นมปั๊มกลางคืน กินกลางคืน ใช่หรือไม่ ดร.แจ็ค นิวแมน เขียนถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatric Research เดือนมีนาคม 2019 ( https://doi.org/10.1038/s41390-019-0368-x) ที่พูดถึง chrononutrition ของนมแม่ nutrition คือ สารอาหาร chrono มาจากภาษากรีกแปลว่า เวลา chrononutrition หมายถึง การที่ความเข้มข้นขององค์ประกอบของนมแม่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาในช่วง 24 ชั่วโมง และการที่องค์ประกอบของนมแม่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของวันนี้จะมีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก เช่น ความเข้มข้นของภูมิต้านทานจะสูงสุดในช่วงเที่ยงวัน ความเข้มข้นของ cortisol (ที่ช่วยทำให้เรามีความตื่นตัว) จะสูงที่สุดในช่วงเช้า ผู้เขียนงานวิจัยยังระบุด้วยว่า "นมที่ปั๊มออกมาอาจจะไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับนาฬิกาชีวิต (ไม่ได้นำไปให้ทารกกิน ในเวลาที่เหมาะสมในช่วง 24 ชั่วโมง) และอาจไปรบกวนการพัฒนาจังหวะนาฬิกาชีวิตของทารก อาจส่งผลต่อปัญหาการนอนหลับ และการปรับสภาพทางจิตใจของทารกให้เข้ากับแม่และสิ่งแวดล้อมรอบตัว" "การปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตของทารก อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก" ดร.แจ็ค บอกว่า ก็ใช่... แต่นมผงสำหรับทารก ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวิตเลยเหมือนกัน!!!! ดร.แจ็ค บ่น (ซึ่งเราก็เห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์) ว่าผู้เขียนมัวแต่มุ่งเน้นไปที่เรื่องที่ว่านมปั๊มควรจะถูกนำมาให้ทารกในเวลาเดียวกับเวลาที่ปั๊มออกมา เช่น นมปั๊มกลางวันให้กินกลางวัน นมปั๊มกลางคืนให้กินกลางคืน แทนที่จะเน้นว่าทารกควรจะได้กินนมแม่จากเต้าโดยตรง ในงานวิจัยมีรูปแสดงความเข้มข้นของสารอาหารในนมแม่ในแต่ละช่วงเวลา ผู้เขียนงานวิจัยคนนี้คงไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ Milk Code เพราะดันใช้รูปขวดนมแทนนมแม่ #แค่คิดก็ผิดแล้ว ดร.แจ็คทนไม่ไหว ทำรูปให้ใหม่ซะเลย 😂😂😂 การที่สารอาหารต่างๆ จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่รูปภาพทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถพบได้ในนมแม่ตลอดทั้งวัน cortisol ก็เช่นกัน ความเข้มข้นของสารอาหารต่างๆ ในนมแม่จะมากน้อยในเวลาใด ขึ้นอยู่กับนาฬิกาชีวิตของทั้งแม่และลูกแต่ละคน ทารกบางคนตื่นเช้านอนเร็ว ทารกบางคนตื่นสายนอนช้า การนอนของทารกคนเดียวกัน ตอน 2 สัปดาห์กับตอน 6 เดือนก็ต่างกัน เราไปอ่านบทวิจัยแบบเร็วๆ เอาจริงเนื้อหาสาระแทบจะไม่มีอะไร เกิน 80% เป็นข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของนมแม่ ที่เหลือเป็นการตั้งข้อสงสัยว่า การให้ทารกกินนมปั๊มที่ไม่ตรงกับนาฬิกาชีวิตมีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่มีงานวิจัยอะไรมาสนับสนุน ข้อเสนอเพิ่มเติมของผู้เขียนคือ ควรจะมีคนลงทุนทำวิจัยเรื่องนี้เพิ่มขึ้น อีกเรื่องนึงที่ผู้เขียนพูดผ่านๆ แต่ไม่ได้เน้นย้ำเท่าการทำวิจัยเพิ่ม คือ การติดฉลากบันทึกเวลาที่ปั๊มนม แล้วให้ทารกกินนมตามเวลาที่ปั๊ม ดร.แจ็คมีความเห็นว่า จะให้ทารกกินนมปั๊มเวลาไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เรื่องสำคัญคือ บทความนี้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมไปจากข้อมูลเดิมซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล ว่า น้ำนมแม่ แตกต่างจาก นมผงสำหรับทารก ที่วางขายในท้องตลาดมากแค่ไหน และการค้นพบองค์ประกอบใหม่ๆ ในนมแม่ ก็หมายความว่า เขา (บริษัทนมผสม) จะสามารถเติมสารประกอบตัวนั้น เข้าไปใน นมผสมสำหรับทารก "สูตรใหม่" (ที่แพงกว่าเดิม) เพื่อทำให้มันเหมือนน้ำนมแม่ และกระทั่งพยายามจะบอกว่า น้ำนมแม่จากเต้าโดยตรง ต่างจาก น้ำนมแม่ที่ปั๊มใส่ขวด สิ่งที่ขัดใจดร.แจ็คมากที่สุด คือแทนที่หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว เราจะสรุปกันว่า แม่ทุกคน ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างดีที่สุดเพื่อให้สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้ง่ายที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เรากลับไปโฟกัสอยู่กับเรื่องที่ว่า นมแม่ที่ปั๊มออกมามีองค์ประกอบอะไร และ จะลงทุนอีกมากมายเพื่อพยายามทำให้ นมผงสำหรับทารก ใกล้เคียงกับ นมแม่ มากที่สุด หลังจากเราอ่านโพสต์ ดร.แจ็คแล้ว ไล่อ่านคอมเมนต์บางส่วน ก็ตะเตือนใตไปอีกแบบ นมผงพยายามหาทางขายของ ดิสเครดิตนมแม่จากเต้าไม่ได้ ก็ดิสเครดิต นมแม่ที่ปั๊มใส่ขวด บรรดาแม่ๆ ก็ดราม่าแบ่งชนชั้นกันไป... นมผสมหมั่นไส้นมปั๊ม นมปั๊มหมั้นไส้นมจากเต้า ฯลฯ สงครามนมแม่ นี่มันดุเดือดจริงๆ |